“...ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจน คนมั่งมีและเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี...”
คำพูดที่ดูแสนจะธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความมุ่งมั่นนี้ เป็นคำพูดที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการตัดสินพระทัยไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาการแพทย์ในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมระดับสากล
แม้เวลาจะผ่านมากว่าศตวรรษนับตั้งแต่ที่พระองค์เสด็จฯ ไปศึกษาวิชาแพทย์ แต่โรงพยาบาลศิริราช ยังคงสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ที่กล่าวมาด้านต้น ด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่เลือกยากดีมีจน และมุ่งมั่นพัฒนาให้โรงพยาบาลศิริราชเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” (Smart Hospital)
หนึ่งในการพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ” คือ การนำเทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณมาใช้เพื่อส่งข้อมูลในการรักษา เช่น โครงการ “รถช่วยชีวิต Siriraj Mobile Stroke Unit” ของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ที่มีการส่งภาพของผู้ป่วยฉุกเฉินมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัย เพื่อแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติอย่างทันท่วงที เพราะทุกวินาที คือ เส้นแบ่งความเป็นตายของผู้ป่วย บางกรณีจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ในรถพยาบาล ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในรถพยาบาลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สามารถแก้ไขอาการฉุกเฉินของผู้ป่วยได้ทันท่วงที การรับส่งข้อมูลจะต้องรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาใช้ในงานส่วนนี้
ใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การหลีกเลี่ยงการสัมผัส และติดต่อกันเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถลดการระบาดของโรคนี้ได้ รพ.ศิริราช สํานักงาน กสทช. และ บ. หัวเว่ย จึงร่วมมือกันดําเนินโครงการนําร่อง “รถอัจฉริยะไร้คนขับ” เพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทยสู่ยุค 5G โดยการนำรถดังกล่าวมาใช้ขนส่งเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อลดการสัมผัส และช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคคลากรทางการแพทย์
ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโครงการนี้ว่า
“โรงพยาบาลศิริราชให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาพัฒนางานทางการแพทย์ได้อย่างเป็นองค์รวม รถอัจฉริยะไร้คนขับโดยเทคโนโลยี 5G จากโครงการนำร่องในครั้งนี้จะนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์ กลางของโรงพยาบาล โดยช่วงเริ่มต้นจะใช้ในการขนส่งยา เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ในงานด้านการขนส่ง ซึ่งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับบริการทางการแพทย์ไทยได้ในระยะยาว”
โครงการนำร่องนี้หากดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ ก็จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอดใช้กับงานด้านอื่น และโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป
อ้างอิง
- หนังสือ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้เป็นแบบอย่าง”
- บทความ “5G เทคโนโลยีและหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020”/ บทความ “สํานักงาน กสทช. จับมือ รพ.ศิริราช หัวเว่ย ดําเนินโครงการนําร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับ เพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศไทยสู่ยุค 5G เพื่อพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบ โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)” และ บทความ “พิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในรถพยาบาลฉุกเฉิน” จาก www.si.mahidol.ac.th
PRD