1 พ.ย. 63 บัตรทอง กทม. รักษาปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่าย ส่วนสิทธิว่าง 2 ล้านคนไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
สปสช.ร่วมมือ กทม. ปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. ดีเดย์ 1 พ.ย. 2563 นี้ ประชาชนไปรับบริการใกล้บ้านที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายนั้น ทั้งคลินิกเต็มเวลาและคลินิกเฉพาะทางนอกเวลาที่เข้าร่วมระบบบัตรทอง ส่วนผู้ได้รับผลกระทบถูกยกเลิกหน่วยบริการประจำกว่า 2 ล้านคนไม่ต้องวิ่งไปลงทะเบียนที่ไหน สปสช.จัดหน่วยบริการประจำใหม่ให้ใกล้คลินิกเดิมที่สุด พร้อมเปิดให้เปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ในภายหลังหากไม่พอใจ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเสวนา “ปฏิรูประบบสุขภาพเมืองกรุงแนวใหม่ : สปสช.เปิดเกณฑ์เชิญสถานพยาบาลเข้าร่วมระบบบัตรทอง" เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปราย
นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า ในระยะนี้ที่ทาง สปสช.ยกเลิกหน่วยบริการปฐมภูมิไป และกำลังอยู่ระหว่างหาคลินิกมาร่วมให้บริการ ทำให้มีผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. มากขึ้นประมาณ 50% ดังนั้นก็ต้องขออภัยหากได้รับความไม่สะดวกหรือต้องรอนานขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งทาง กทม.ได้หามาตรการรองรับต่างๆ เช่น การจ้างแพทย์ที่เกษียณแล้วมาช่วยตรวจ หรือขยายเวลาตรวจให้มากขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิใน กทม.ใหม่ ซึ่งในรูปแบบใหม่นี้จะบริหารแบบ Area Base หรือการยึดพื้นที่เป็นหลักเพื่อให้ผู้บริหารจัดการสามารถรู้สภาวะในพื้นที่และทำโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะที่สุด การจัดกิจกรรมด้านสุขภาพก็จะจัดให้สอดคล้องกับโรคหรือภาวะสุขภาพและแตกต่างจากเขตอื่นๆ เป็นต้น
นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ กทม.มีหน่วยบริการกว่า 4,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นคลินิกเวชกรรมกว่า 2,000 แห่ง คลินิกเฉพาะทางอีกกว่า 200 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นคลินิกในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งทาง สปสช.อยู่ระหว่างเชิญชวนหน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละเขตก็จะเป็นแม่ข่ายในการจัดการสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ โดยทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย ช่วยแนะนำสนับสนุนการทำงานของคลินิกเหล่านี้ให้อยู่ในระบบที่กำหนด
"ต้องแยกเรื่องรักษากับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในด้านการรักษา คลินิกส่วนใหญ่เน้นเรื่องการรักษาอยู่แล้ว ตอนนี้เราพยายามให้คลินิกเข้ามาในระบบการรักษาก่อน แต่ความหมายของพี่เลี้ยงคือการดึงข้อมูลเข้ามาเพื่อให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.รู้สุขภาวะของประชาชนในพื้นที่และให้คำแนะนำในกรณีที่คลินิกติดขัดหรือมีความไม่เข้าใจบางอย่างเกิดขึ้น ตลอดจนเป็นผู้นำในการ organize หรือบริหารจัดการเครือข่ายในการทำกิจกรรมหรือโครงการด้านสุขภาพต่างๆ ด้วย" นพ.ชวินทร์ กล่าว
นพ.ชวินทร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว ในระบบใหม่จะมีคลินิกเฉพาะทางเข้ามาร่วมเป็นหน่วยร่วมบริการ ดังนั้นประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงคลินิกพิเศษเฉพาะทางได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอเฉพาะทางในโรงพยาบาล และในส่วนของการส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ กทม. ได้แบ่งพื้นที่เป็น 6 โซนและแต่ละโซนจะมีโรงพยาบาลประจำโซนเพื่อรับส่งต่อประชาชนในกลุ่มเขตนั้นๆ ด้วย
"กทม.รู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน เพียงแต่ที่ผ่านมาศักยภาพของ กทม.เพียงลำพังไม่สามารถครอบคลุมได้หมด เมื่อมี สปสช.เข้ามาหนุนเสริมการทำงาน ก็ทำให้เราสามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น" นพ.ชวินทร์ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในอดีตประชาชนต้องไปลงทะเบียนหน่วยบริการประจำกับคลินิกเดียว แล้วไปใช้บริการที่คลินิกนั้น แต่ในระบบใหม่จะเปลี่ยนระบบการทำงานเป็นเครือข่าย คลินิกไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ แล้ว โดยในเครือข่ายจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย และมีอีก 2 ส่วนอยู่ในเครือข่ายด้วยคือหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งก็คือหน่วยบริการปกติที่ประชาชนไปลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ และที่เพิ่มเข้ามาคือหน่วยร่วมบริการ เป็นคลินิกที่อาจให้บริการเฉพาะบางช่วงเวลาหรือคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ซึ่งเข้ามาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน แล้วประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายนี้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระบบนี้จะนำร่องในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งคลินิกที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2 ลักษณะคือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หมายความว่าต้องดูแลประชากรในพื้นที่ เช่น ออกไปเยี่ยมบ้าน ไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น และอีกส่วนคือ หน่วยร่วมบริการ เช่น คลินิกเฉพาะทางหรือเปิดบริการไม่ถึง 56 ชั่งโมงต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน สปสช.ยังปรับระบบการจ่ายเงิน โดยหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีวงเงินงบประมาณเหมาจ่ายตามจำนวนประชากรและรับค่าบริการตามการให้บริการที่กำหนด (fee Schedule) ส่วนหน่วยร่วมบริการจะได้เงินจาก สปสช.โดยตรงตามรายการที่ให้บริการแก่ผู้ป่วย โดย สปสช.จะกำหนดราคาในรายการยา เวชภัณฑ์ ตรวจแล็บ และหัตถการต่างๆ แล้วมาเบิกตรงได้เลย เหมือนที่เคยเก็บจากประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนมาเก็บจาก สปสช.แทน ดังนั้นในมุมของผู้ให้บริการก็จะสะดวก เพียงสมัครเข้ามา เมื่อมีผู้ไปรับบริการ สปสช.ก็ตามไปจ่ายให้ แต่ในความเป็นเครือข่าย ทางศูนย์บริการสาธารณสุขก็จะลงไปให้คำแนะนำและดูแลเรื่องคุณภาพด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประชาชนนั้น ประชาชนที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพใน กทม.มี 3.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.7 ล้านคนมีหน่วยบริการประจำแล้ว ถ้าอยู่ในกลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนอีก 2 ล้านคนที่เหลือเป็นสิทธิว่างเพราะหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกไป ขณะนี้สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ แต่ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 จะมีคลินิกใหม่มารองรับ
"ถามว่าประชาชนกลุ่มนี้ วันที่ 1 พ.ย. 2563 ต้องทำอะไรบ้าง ผมขอตอบว่าท่านก็ไม่ต้องทำอะไรเช่นกัน เพราะ สปสช.มีข้อมูลอยู่แล้วว่าท่านเคยลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำไว้ที่ไหน ดังนั้นเมื่อ สปสช. สามารถจัดหาคลินิกรายใหม่มาร่วมเป็นเครือข่ายได้แล้ว เราจะลงทะเบียนหน่วยบริการใหม่ให้ท่านให้อยู่ใกล้คลินิกเดิมมากที่สุด สะดวกที่สุด ดังนั้น วันที่ 1 พ.ย. 2563 นี้ 2 ล้านคนนี้ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องวิ่งไปลงทะเบียนที่ไหน สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ทางหน่วยบริการจะดูให้ว่าหน่วยบริการประจำของท่านอยู่ที่ไหนและสามารถไปรับบริการได้ในครั้งต่อไป หรือจริงๆ ก็ไปรับบริการที่หน่วยอื่นก็ได้ เพียงแต่โดยธรรมชาติของคนเราย่อมอยากไปรับบริการใกล้บ้านและอยากมีหมอประจำครอบครัวเพื่อดูแลให้คำปรึกษาในระยะยาว และถ้าไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้เช่นกัน" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลรับส่งต่อนั้น ในอดีตประชาชนเวลาลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็มักมองไปที่หน่วยบริการรับส่งต่อด้วยว่าจะได้โรงพยาบาลไหน แต่หลังจากนี้อยากให้ประชาชนมองไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านก่อนว่าแทนที่จะไปได้ที่เดียว ก็ไปรับบริการได้ทุกที่ในเครือข่ายบริการนั้น และถ้าจำเป็นต้องส่งต่อก็จะมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเบื้องต้น แล้วถ้าโรงพยาบาลรับส่งต่อไม่สามารถรักษาได้ก็จะหาโรงพยาบาลระดับ super tertiary หรือโรงพยาบาลระดับสูงกว่าตติยภูมิ เช่น โรงเรียนแพทย์ มารองรับให้เอง ซึ่งก็ขอเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนด้วย หากมีเจตจำนงค์ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ก็สามารถสมัครเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อได้ โดย สปสช.จะจ่ายอย่างน้อย 8,350 บาท/AdjRW หรือค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของโรค ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดโรงพยาบาลเอกชนให้เข้าร่วมมากขึ้น
ข่าวเกี่ยวข้อง
นายกฯ สั่งคลายล็อก “บัตรทอง” รักษาได้ทุกที่ไม่ต้องมีใบส่งตัว นำร่องใน กทม.
ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 25 ต.ค. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับระบบสวัสดิการแห่งรัฐด้านสาธารณสุข ด้วยการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประชาชนผู้มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ และยกเลิกการต้องใช้ใบส่งตัวของผู้ป่วยในกรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่รักษาพยาบาล โดยมีรายละเอียดการคลายล็อกดังนี้
- ประชาชนสามารถรับการรักษาพยาบาลที่ใดก็ได้
ทดลองให้ประชาชนใน กทม. สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการชุมชนอบอุ่น ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น ได้ทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะถูกจับคู่กับหน่วยบริการประจำ(คลินิก)เพียงแห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษาที่คลินิกประจำนั้นๆ หากป่วยหนักจนคลินิกรักษาไม่ไหว คลินิกก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพให้รักษาต่อ แต่นโยบายใหม่นี้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่หลากหลายมากขึ้น โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งเป้าที่จะประสานหน่วยบริการจำนวน 500 แห่ง ให้เข้ามาเป็นหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น (คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการเฉพาะทางชุมชนอบอุ่น)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. จะสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นในเขตของตัวเองได้ทุกแห่ง และสามารถนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าได้ โดย สปสช. ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายการเข้ารับบริการล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะเริ่มให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และจะขยายไปในกลุ่มผู้ป่วยนอกทั้งหมดในระยะต่อไป
- “ผู้ป่วยใน” ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป
ใบส่งตัวเป็นเอกสารที่ใช้สื่อสารลักษณะโรค อาการป่วย การรับการรักษาเบื้องต้น ที่ผ่านมาหากหน่วยบริการประจำ(คลินิก)วินิจฉัยและส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ผู้ป่วยต้องไปรับใบส่งตัวจากคลินิกหรือโรงพยาบาลก่อน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก แต่นโยบายใหม่นี้หากผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพแล้วโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าต้องแอดมิท(นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล) ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันทีโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวอีก เนื่องจาก สปสช. จะจัดทำระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเองโดยอัตโนมัติ
- ประชาชนแจ้งย้ายหน่วยบริการเมื่อใด รักษาที่ใหม่ได้ทันที
ที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองขอย้ายหน่วยบริการ จะต้องรออีก 15 วัน จึงจะไปรักษาที่หน่วยบริการแห่งใหม่ได้ แต่นโยบายใหม่นี้ ผู้ป่วยไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป คือ เมื่อมีความประสงค์ที่จะย้ายเมื่อใดก็สามารถไปรักษาที่ใหม่ได้ทันที ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองจึงอุ่นใจได้ว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานก็จะสามารถย้ายหน่วยบริการและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันทีอย่างแน่นอน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและไม่แออัด
มะเร็งเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ให้กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูง ค่าใช้จ่ายก็สูง และที่สำคัญคือโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็ง จึงเกิดปัญหาคอขวดในการเข้ารับบริการเกิดความแออัด ต้องรอการนัดหมายที่ค่อนข้างนาน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาล่าช้าก็อาจทำให้มะเร็งลุกลามได้โดยไม่จำเป็น สปสช. จึงมีแนวคิดในการยกระดับการรักษาใหม่ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หน่วยบริการผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมาเพื่อให้ สปสช. ประสานจัดหาโรงพยาบาลที่ไม่แออัด และมีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งประเภทนั้นๆ ได้ทันที ประชาชนก็จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน บริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน พร้อมด้วยการติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล (Telehealth) ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายอนุชา กล่าวย้ำด้วยว่า “การคลายล็อกข้อจำกัดต่างๆ ของบัตรทองในครั้งนี้ คือนโยบายของรัฐบาลในความพยายามที่จะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการดูแลรักษาพยาบาลที่ดี มีมาตรฐาน ง่ายและสะดวกสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน”
ข้อมูลจาก
ไทยรัฐ ออนไลน์ 25/10/2563