8 มิถุนายน 2565 สภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปให้มีการยกระดับมาตรฐานการปล่อยก๊าซ CO2 ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) สรุป ดังนี้
1) เพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่ในเขตอียูเป็นร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2001 (จากเดิมซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 37.5 ภายในปีเดียวกัน) และลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2035 โดยในส่วนของรถตู้ ให้ลดค่าการปล่อยก๊าซ CO2 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 (จากเดิมซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 31) ก่อนลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2035 เช่นเดียวกัน
2) ขยายความทั่วถึงของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าบนเส้นทางสายหลักในทุกระยะ 60 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle – BEV ) และทุกระยะ 150 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Electric Vehicle) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หากกฏหมายฉบับนี้ผ่าน รถยนต์ขนาดเล็ก ทั้งหมด ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถตู้ รถโดยสาร และรถบรรทุก ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3.5 ตัน ต้องปลอดมลพิษโดยสิ้นเชิง ไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ออกมา นั่นคือการสิ้นสุดยุครถใช้น้ำมันดีเซล หรือเบนซิน รวมถึงรถยนต์ไฮบริด ในยุโรปอย่างแท้จริง
ที่ว่างจึงไว้ให้เพียง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถพลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษ เช่น รถไฮโดรเจน เท่านั้น ที่จะมาทดแทน
ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปรุมค้าน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปหลายค่าย เช่น เยอรมนี และอิตาลี ได้ออกมาคัดค้านแผนการดังกล่าว โดยมองว่าแม้เทคโนโลยี EV ในปัจจุบันจะพัฒนาไปมาก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น แบตเตอรี่ยังมีคุณภาพและเสถียรภาพไม่สูงพอ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า รวมทั้งปัญหาความพร้อมด้านทักษะแรงงาน ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างเต็มตัวในยุโรปในระยะเวลาอันใกล้
ปัญหาการขาดแคลนชิปอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาด ส่งผลให้ต้องหยุดการผลิตทั่วโลก ก็ยังคงเป้นปัญหาที่ท้าทายอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์อยู่ และอาจจะยังไม่คลี่คลายในเวลาอันสั้น
ข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ คือขอให้พิจารณา "ยืดระยะเวลาสำหรับการขายรถยนต์ใช้น้ำมัน" ออกไปอีกจนถึงปี ค.ศ. 2040 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุครถยนต์ปลอดมลพิษได้อย่างราบรื่น
ขณะที่ มี 5 ประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ อิตาลี โปรตุเกส สโลวาเกีย บัลแกเรีย และโรเมเนีย โดยเสนอให้ชะลอการบังคับใช้รถที่ปลอดมลพิษสิ้นเชิงในปี 2030 ออกไปอีก 5 ปี เป็น ปี 2030 จำกัด 90% และครบ 100% ในปี 2040 ด้วยเหตุผลความสามารถด้านกำลังซื้อที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก [
electrek.co]
ลำดับต่อไป รัฐสภายุโรปจะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (ฝ่ายบริหาร) และคณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามาในร่างกฎหมายฯ อีก
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ยุโรปเป็นตลาดส่งออก สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ ที่สำคัญของไทยมายาวนาน หากกฏหมายนี้ บังคับใช้ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง และจะเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต "ต้องปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่าง ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาตลาดและความสามารถในการแข่งขันต่อไป"
ข้อมูลและภาพจาก Thai Europe
19 กรกฎาคม 2565
ข้อมูลจำนวนรถพลังงานไฟฟ้าในยุโรป จาก
www.eea.europa.eu