มีหลายโรค ที่มีคำถามจากประชาชนมากมาย อาทิเช่น ไตวาย โลหิตจาง ทำหมัน แก้หมัน ตรวจมะเร็งปากมดลูก สิว ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ประจำเดือน ตาต้อ ทำฟัน โรคเอดส์ คุมกำเนิด จิตเพศ ฆ่าตัวตาย ว่าสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ มีคำตอบรวบรวมไว้ ดังนี้
****************
1.เป็นไตวายเรื้อรังและผ่าตัดเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้ว ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต จะขอใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ปัจจุบันไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกันถือเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนอวัยวะ จึงไม่อยู่ในความคุ้มครอง
2.มีลูกเป็นโลหิตจาง Thalassemia ต้องการรักษาลูกด้วยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูก จะขอใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ปัจจุบันไม่สามารถใช้สิทธิได้เนื่องจากการปลูกถ่ายไขกระดูก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์
3.ผู้หญิงโสดอายุ40 ปี ไม่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูกมาก่อน จะขอตรวจโดยการใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยง ตามแนวทางการตรวจสุขภาพในผู้ใหญ่ทั่วไป
4.ต้องการให้สามีทำหมัน จะใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ เพราะเป็นการวางแผนครอบครัว ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพ และไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ30บาท
5.อายุ18 ปี ไม่เคยมีประจำเดือนมาเลย จะขอใช้สิทธิบัตรทองตรวจหาสาเหตุได้หรือไม่?
ได้ โดยขอให้ปรึกษาที่หน่วยบริการประจำครอบครัวก่อน
6.ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ เนื่องจากเป็นการรักษาโรคอย่างหนึ่ง
7.ตาเป็นต้อ รักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา จะใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ เนื่องจากเป็นการรักษาโรค ท่านจะได้รับการรักษาเปลี่ยนเลนส์แก้วตาให้โดยเสียค่าผ่าตัดเพียง30บาท โดยไปใช้บริการที่ระบุไว้ในบัตรทอง
8.กรณีที่มีโรคใหม่จะใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ นานหรือไม่ที่จะเข้าโครงการ30บาทรักษาทุกโรค?
ผู้มีสิทธิตามบัตรทอง จะได้รับการรักษาโรคเกือบทั้งหมด จะมีข้อยกเว้นบางกรณีเท่านั้น เช่น การล้างไตในกรณีไตวายเรื้อรัง การเปลี่ยนอวัยวะ ฯลฯ หรือการตรวจอื่นๆที่เกินความจำเป็นและไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ฉะนั้นกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโรคแปลกใหม่อย่างไร ขอให้มีความมั่นใจว่าใช้สิทธิบัตรทองได้แน่นอน
9.ฟันไม่สวยต้องการจัดฟัน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อความสวยงาม
10.เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มสุรา รักษาด้วยสิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้
11.สายตาสั้น ต้องการรักษาโดยการทำเลสิค ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ไม่ได้ ถ้าเป็นความต้องการของผู้ป่วยเองที่อาจไม่ต้องการสวมแว่นตา แต่ในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่า สายตาสั้นมาก จนไม่สามารถสวมแว่นตาได้ และมีความจำเป็นต้องรักษาโดยการทำเลสิคจริงๆ ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้
12.บุตรเกิดมาแล้วหมอบอกผนังหัวใจรั่ว ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ โดยใช้บริการกับหน่วยบริการที่ระบุไว้ในบัตรทอง
13.ทำแท้งแล้วมดลูกอักเสบ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ได้ โดยใช้บริการกับหน่วยบริการตามที่ระบุไว้ในบัตรทอง
14.หน้ามีไฝ ต้องการผ่าไฝออก สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ไม่ได้ หากเป็นการกระทำเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่หากแพทย์พิจารณาแล้วว่า หากปล่อยไว้อาจเป็นโรคอื่นต่อไปได้ในอนาคต สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้
15.การปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวและได้รับคำแนะนำให้ฉึดยาคุม ไม่ทราบว่าจะใช้สิทธิใบทองได้ไหม?
ได้ เพราะจัดอยู่ในประเภทการส่งเสริมสุขภาพ และไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการครั้งละ30บาท ด้วย
16.ผู้ป่วยโรคเอดส์ สามารถใช้สิทธิบัตรทอง รักษาได้หรือไม่?
ได้ กรณีรักษาโรคแทรกซ้อน การติดเชื้อต่างๆ แต่ไม่สามารถใช้ในกรณีการรักษา โดยใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ ยกเว้่นกรณีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูก
17.หน้าเป็นสิว สามารถใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาได้หรือไม่?
หากเป็นการรักษาเพื่อความสวยงาม ไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องรักษาสามารถใช้สิทธิได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
18.ปัจจุบันคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยการฝังยาคุมกำเนิดใต้ท้องแขนประมาณ3ปี หากต้องการมีบุตรอีกจะใช้สิทธิบัตรทองในการผ่าตัดได้หรือไม่?
ได้ เนื่องจากการฝังยาคุมกำเนิดใต้ท้องแขน มีกำหนดระยะเวลาของการใช้ไม่เกิน5ปี เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวถือว่ายังอยู่ในช่วงของการวางแผนครอบครัว
19.ขอใช้สิทธิบัตรทองในการฉีดยาศพ ขอรถพยาบาลขนศพ เพื่อกลับภูมิลำเนาได้หรือไม่?
ไม่ได้ เพราะสิทธิในการใช้บัตรทองจะสิ้นสุดลงเมื่อตาย
20.การพยายามฆ่าตัวตาย สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากไม่อยู่ในข้อยกเว้นของชุดสิทธิประโยชน์และการที่ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย แสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ถือเป็นการเจ็บป่วยทางจิต และควรต้องพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
21.การรักษาฟันคุด สามารถใช้บัตรทองได้หรือไม่?
ได้ เนื่องจากการรักษาฟันคุด ใช้วิธีผ่าตัดและถอนฟันขึ้นมา ซึ่งถือว่าอยู่ในกรณีของการถอนฟันเช่นเดียวกัน
22.หากทำหมันไปแล้วต้องการมีลูกอีก การผ่าตัดแก้หมันสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่?
ไม่ได้ ทั้งหมันในผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
23.กรณีมีบาดแผลและต้องทำแผลทุกวัน ต้องจ่าย30บาท ทุกครั้งหรือไม่?
ปกติต้องจ่ายทุกครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด / ชนิดของแผล และข้อตกลงของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ จังหวัดนั้นๆ
24.สามารถใช้สิทธิบัตรทองอุดฟันได้หรือไม่?
ได้
25.บัตรทองใช้ในกรณีรักษาโรคมะเร็งได้หรือไม่?
ได้
26.หลานสาวมีบัตรทองอยู่ จ.จันทบุรีมาศึกษาต่อที่กรุงเทพจะต้องทำอย่างไรจึงจะใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลที่กรุงเทพได้?
ท่านสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการกรณีออกจากภูมิลำเนาเดิม ได้โดย
1) กรณีย้ายทะเบียนบ้านให้นำหลักฐาน คือ สำเนาทะเบียนบ้านที่ย้ายมาอยู่ใหม่ และสำเนาบัตรประชาชนพร้อมบัตรทองใบเดิม (ถ้ามี) ติดต่อที่สถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้าน
2) กรณีไม่ย้ายทะเบียนบ้านให้นำหลักฐาน ให้เพิ่มเติมสำเนาทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัยอยู่จริง หรือรับรองตนเองพร้อมแสดงหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ที่มีชื่อของตนเอง เป็นต้น ท่านก็จะได้รับบัตรทองใหม่ ซึ่งระบุหน่วยบริการในกรุงเทพ
มีบริการทางการแพทย์อะไรบ้างที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองของสิทธิบัตรทอง?
1. บริการกลุ่มที่มีงบประมาณจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ ได้แก่
- อุบัติเหตุการประสบภัยจากรถและอยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมาย ว่าด้วยความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย
2. บริการกลุ่มที่เกินกรอบที่เกินความจำเป็นขั้นพื้่นฐาน ได้แก่
- การรักษาภาวะการมีบุตรยาก
- การผสมเทียม
- การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใดๆที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
3. บริการกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ ได้แก่
- การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
- การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไต การฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม
- โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกิน180วัน ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การเปลี่ยนอวัยวะและการรักษาที่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนอวัยวะ
- การใช้ยาต้านไวรัสเอดส์