24 กันยายน วันมหิดล
วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย"
"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โภคทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ "
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2435 ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ยุโรป พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และนักเรียนทุนหลวงอีกหลายคน โดยพระองค์เข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. 2450 ได้ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพอทสดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
ในระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมัน นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์จึงเสด็จกลับประเทศสยาม เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระองค์ได้เสด็จกลับไปประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาต่อ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารบกและสอบได้เป็นแฟนริคช์ (Fähnrich) คือ นักเรียนทำคะแนนได้ดีมาก โดยพระองค์เขียนและแต่งเรียงความได้อย่างดีไม่ต้องสอบปากเปล่า การสอบในครั้งนั้นมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 400 คน โดยมีคนที่ทำคะแนนได้เท่าพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุดเช่นนี้
หลังจากนั้น พระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือ แทนวิชาทหารบกที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก (Marineschule Flensburg Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และทรงเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน ซึ่งก่อนหน้านี้พระองค์ได้รับพระราชทานยศนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและยศนายเรือตรีแห่งจักรวรรดินาวีเยอรมันจากสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี
ในปี พ.ศ. 2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ต้องออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น "นายเรือโท" ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458 และย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2458 จนกราบถวายบังคมลาออกจากราชการทหารเรือ เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ.2459 รวมเวลารับราชการในกระทรวงทหารเรือ 9 เดือน 18 วัน ภายหลังได้เสด็จไปศึกษาต่อทางด้านวิชาการสาธารณสุขและวิชาการแพทย์
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล จากประเทศญี่ปุ่น นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือ และสถานีทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ
พระราชนิพนธ์ “เจ้าฟ้าทหารเรือ” ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงกล่าวถึง พระประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก ว่า "ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมันนี เสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงทหารเรือรับพระราชทานยศ นายเรือโท กรมเสนาธิการทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2458 ภายหลังทรงย้ายไปรับราชการ ตำแหน่งกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แม้ทรงรับราชการทหารเรือในช่วงเวลาไม่นาน แต่ทรงฝากผลงานวิชาการที่ทันสมัย เช่น บันทึกรายงานเรื่องเรือ ส. ซึ่งหมายถึงเรือดำน้ำต่อเสนาธิการทหารเรือ ความเห็นเรื่องเรือ ส. นี้อีก 20 ปีต่อมาในปี 2479 กองทัพเรือจึงสั่งต่อเรือดำน้ำสี่ลำจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งปลดระหว่างประจำการแล้ว"
จากการที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือจนเป็นที่ประจักษ์จึงทรงได้รับการยกย่องเป็น "เจ้าฟ้าทหารเรือ"
กองทัพเรือ Royal Thai Navy