1 ก.พ.65 เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ ได้ทุกคน
มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมโดยตัดสินใจร่วมกับแพทย์ ไม่บังคับให้การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก หรือ CAPD First Policy อีกต่อไป
แต่เปลี่ยนเป็นให้ผู้ป่วยได้เลือกวิธีการฟอกไตที่เหมาะสมโดยตัดสินใจร่วมกับแพทย์ได้หรือ Patient Choice Policy เริ่ม 1 ก.พ.65
แนวปฏิบัติของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต)
ก.ผู้ป่วยรายเดิม (ก่อน 1 ก.พ.2565)
ผู้ป่วยไตที่ล้างไตผ่านช่องท้อง หากต้องการเปลี่ยนมาใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- ปรึกษาแพทย์ที่รักษา
- เข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามที่แพทย์แนะนำ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์
ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หลังจาก 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป
- กรณีเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.อยู่แล้ว รับบริการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย (สอบถามรายละเอียดจากหน่วยบริการที่ดูแลท่านได้โดยตรง)
- กรณีหน่วยบริการที่ท่านฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โทร.สายด่วน 1330 เพื่อตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ที่ท่านสามารถไปใช้บริการได้
ข.ผู้ป่วยรายใหม่ ตั้งแต่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป
เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าต้องเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต แพทย์และผู้ป่วยจะตัดสินใจร่วมกันเพื่อเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด (ผู้ป่วยมีทางเลือก ไม่บังคับให้ให้ใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกอีกต่อไป)
- ผู้ป่วยสมัครใจล้างไตผ่านช่องท้อง รับบริการตามกระบวนการต่อไป ล้างไตที่บ้านเป็นประจำทุกวัน มีน้ำยาล้างไตส่งถึงบ้าน (ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
- ผู้ป่วยสมัครใจฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รับบริการตามกระบวนการต่อไป โดยแพทย์จะส่งผู้ป่วยไปเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่หน่วยบริการที่เหมาะสม ผู้ป่วยเดินทางมาฟอกไตสัปดาห์ละไม่เกิน 3 ครั้ง (ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
“อนุทิน” ชี้ทำได้ทุก รพ.ที่มีบริการ
28 มกราคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศ และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ถึงการเพิ่มทางเลือกฟอกไตด้วยเครื่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
โครงการนี้มาจากการลงพื้นที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด พบผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับความเดือดร้อนจากการฟอกไตด้วยเครื่อง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มครั้งละ 1,500 บาท บางรายต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้เป็นภาระครอบครัวอาจต้องกู้เงินมารักษา จึงหารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการ สปสช. ร่วมกันดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วย
“จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งทำความเข้าใจกับแพทย์เรื่อง 30 บาทรักษาได้ทุกโรค ซึ่งโรคไตคนไทยป่วยกันมาก ส่วน สปสช. จะเตรียมงบประมาณมาดูแล โดยการเปลี่ยนมาฟอกไตด้วยเครื่องขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้ป่วย สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งที่มีหน่วยบริการล้างไต” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า แม้จะเพิ่มทางเลือกในการฟอกไตด้วยเครื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการรณรงค์ให้คนรักษาสุขภาพ ห่างไกลจากโรคไตเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ต้องมีวิธีดำเนินชีวิต การปฏิบัติตน หรือการบริโภคที่ไม่ทำให้เกิดโรค และต้องช่วยกันผลักดันค่านิยมการบริจาคอวัยวะซึ่งจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้จำนวนมาก เช่น การเปลี่ยนไต จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น เมื่อคนมีสุขภาพแข็งแรง ก็จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศชาติและเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นด้วย
ขอบคุณจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
เพจ
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุว่า นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมฯ ที่ได้เข้าร่วมหารือ ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ประเด็น เตรียมพร้อม 1 ก.พ. นี้ "เพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตวาย ฟอกไตได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย" และในนามผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ขอขอบคุณ รมว.สาธารณสุข และบอร์ด สปสช. ที่คำนึงถึงผู้ป่วยโรคไต นำมาสู่มติบอร์ด สปสช.นี้
ทั้งนี้คงต้องตามดูสถานการณ์หลังจากวันที่ 1 ก.พ. แต่เชื่อว่าทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้มีการเตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับไว้แล้วก่อนที่จะประกาศและเดินหน้านโยบายนี้
ก.ผู้ป่วยรายเดิม (ก่อน 1 ก.พ.2565)
ข.ผู้ป่วยรายใหม่ ตั้งแต่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป