1.LAAB ย่อมาจากอะไร
LAAB ย่อมาจาก Long-acting Antibody หรือ ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม ใช้เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสสายพันธ์ย่อยโอมิครอน BA.1, BA.1.1, BA.2, BA.3, BA.4 และ BA.5 ได้ รวมไปถึงยังสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการได้อีกด้วย
2.LAAB เหมาะกับใคร
LAAB สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป (น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม) ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่อาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอจากโรคร่วมต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันผู้ป่วยล้างไต รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
3. LAAB ใช้อย่างไร
สำหรับการใช้งาน LAAB เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 150 มิลลิกรัม โดยมีผลวิจัยสนับสนุนว่าการฉีดยาครั้งเดียวสามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้อย่างน้อย
6 เดือน
4.LAAB ขึ้นทะเบียนที่ไหนบ้าง
ปัจจุบัน LAAB ได้รับการขึ้นทะเบียนในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รวมถึงสหภาพยุโรป และอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลกสำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19
5.บุคคลทั่วไปรับยา LAAB ได้หรือไม่
หากมีคำถามว่าบุคคลทั่วไปสามารถรับยา LAAB ได้หรือไม่ คงต้องตอบว่าเบื้องต้นยา LAAB นั้นได้รับ การขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง มีความเสี่ยงสูง และมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงประชากรที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ก่อน
6.ติดโควิดแล้ว ใช้ LAAB รักษาได้หรือไม่
เมื่อไม่นานมานี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ประกาศผลลัพธ์จากการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของ LAAB ในการใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง และป้องกันการเสียชีวิต โดยผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า LAAB สามารถมีบทบาทในการใช้รักษาโรคโควิด-19 ซึ่งต้องรอการขึ้นทะเบียนการใช้ในอนาคต
7.ผลข้างเคียงของ LAAB
ทั้งนี้ LAAB มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดี และไม่มีการระบุถึงปัญหาด้านความปลอดภัย โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด ซึ่งส่วนมากมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและสามารถหายได้เอง