หมอแขวนป้าย คืออะไร
หมอที่มีแต่ชื่อมาอยู่ที่คลินิก แต่ไม่ได้มาประจำหรือปฏิบัติงานจริง
คลินิกหมอแขวนป้าย คือ คลินิกที่นำเพียงชื่อหมอ มาแขวนว่าประจำคลินิก แต่ไม่ได้ดำเนินการประจำคลินิกนั้นจริงๆ
อธิบดีเตือนแรง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ถือเป็นบุคลากรของสถานพยาบาลเอกชน ทั้งโรงพยาบาล และคลินิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแล กำกับ การดำเนินงานของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาทิ การควบคุมดูแลให้แพทย์ผู้ให้บริการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน ควบคุมมิให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ มาประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล รวมถึง ดูแล ความสะอาด เรียบร้อยของสถานพยาบาล
หากขาดแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไปแล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อมาตรฐานการบริการ หรือผู้รับบริการ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรม สบส.ก็ได้มีการกวดขัน ตรวจตรา และดำเนินการการกับคลินิกที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มักจะไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกในขณะที่เกิดเหตุ
"แต่ก็มีในบางกรณี ที่คลินิกจ้างแพทย์ให้มาเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำเพียงชื่อของแพทย์มาแขวนป้ายแต่ไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการอยู่ประจำที่คลินิกแต่อย่างใด ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ ทั้งในด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือในบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสถานพยาบาล"
โดยกรม สบส.จะจัดทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวัง ตรวจตรา สื่อของสถานพยาบาลเอกชนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อป้องกันมิให้มีการเชิญชวน หรือรับสมัครแพทย์ให้แขวนป้ายเป็นผู้ดำเนินการ
หากพบแห่งใดมีการรับจ้างแพทย์มาแขวนป้ายก็จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นจำและปรับ อีกทั้ง กรม สบส.อาจจะมีคำสั่งทางปกครองสั่งปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรือถาวรอีกด้วย
คลินิกต้องมีแพทย์ประจำตลอดเวลาทำการ
สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการคลินิกทุกแห่ง จัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกตลอดระยะเวลาทำการ หากไม่ปฏิบัติตามแล้วผู้ประกอบกิจการ ก็จะมีความผิดตาม
พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนแพทย์ที่ยินยอมให้คลินิกนำชื่อมาแขวนป้ายก็จะมีการดำเนินคดีด้านจริยธรรมทางการแพทย์ โดยแพทยสภา จึงขอให้แพทย์ผู้ดำเนินการทุกท่านปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีการปฏิบัติงานอยู่ที่คลินิกตลอดระยะเวลาทำการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุไม่คาดคิดต่อประชาชนในการรับบริการทางการแพทย์
แพทย์ 1 คน อยู่คลินิกได้ 2 แห่ง
สำหรับแพทย์รายใหม่ที่ต้องการจะเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็ขอให้ยื่นเรื่องขออนุญาตจากผู้รับอนุญาต หากสถานพยาบาลตั้งอยู่ ในกรุงเทพฯ ก็ให้ยื่นเรื่องกับศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ กรม สบส. แต่หากอยู่ต่างจังหวัดก็ให้ยื่นเรื่องกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่
แพทย์หนึ่งท่านจะสามารถเป็นผู้ดำเนินการคลินิกได้ไม่เกิน 2 แห่ง โดยวัน เวลาปฏิบัติงานต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน และจะต้องเผื่อระยะเวลาเดินทางด้วย
พบการทำผิด แจ้ง 1426
หากประชาชนพบเห็น หรือมีเบาะแสการกระทำผิดมาตรฐานทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426
เพจ Drama-addict ได้อธิบายถึง แพทย์แขวนป้ายไว้
คือเวลาจะตั้งคลินิคตั้งสถานประกอบการหรือพวกคลินิคเสริมความงามเนี่ย ตามกฏหมายเวลาจดทะเบียน มันจะมีทั้ง การจดขออนุญาตตั้งสถานพยาบาล กับ ขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งการจดตั้งนี่ใครทำก็ได้ ไม่ต้องเป็นหมอก็ทำได้ แต่เวลาจะขออนุญาตดำเนินการ ต้องมีหมออย่างน้อยหนึ่งคนจดทะเบียนว่าให้บริการที่นั่น
ทีนี้มันก็จะมีกรณีที่เรียกว่า หมอแขวนป้าย
คือคลินิคพวกนี้มันจะไปจ้างหมอให้เอาชื่อของหมอคนนั้นและใบประกอบวิชาชีพ มาจดทะเบียนที่สถานบริการของตัวเอง แลกกับการจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือน ปัจจุบัน เรทอยู่ที่ประมาณ เดือนละสามหมื่นถึงสี่หมื่นบาท
โดยหมอคนนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย จะนั่งกระดิกตืนไปวันๆ หรือไปทำงานที่อื่น เข้าเวรที่อื่น หาเงินก็ตามสะดวก ขอแค่มีชื่อมาจดทะเบียนที่สถานประกอบการให้ผ่านการจดทะเบียนไปได้แค่นั้น
แล้วเวลามีคนไข้มา คลินิคที่ใช้หมอแขวนป้าย มันก็จะเอาคนอื่นที่ไม่ใช่หมอ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล (บางที่เหี้ยหน่อยคือเอาคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสายสุขภาพเลย) มาให้บริการผ่าตัด ร้อยไหม ฉีดฟิลเลอร์ บลาๆ แทนหมอก็มี
ส่วนหมอคนที่รับจ้างแขวนป้าย ก็ได้เงินสองทาง คือเงินกินเปล่าจากคลินิคพวกนี้ กับเงินจากการทำงานเข้าเวรตามปรกติของตัวเอง ส่วนคนไข้ที่ไปใช้บริการที่คลินิคที่มีหมอแขวนป้ายจะเป็นจะตายยังไงก็ช่างแม่ง เรื่องของมึง กูได้เงินก็พอแล้ว อะไรประมาณนี้
ซึ่งการทำเช่นนี้ ทั้งหมอที่รับจ้างแขวนป้าย และคนที่เป็นเจ้าของสถานบริการและจ้างหมอแขวนป้าย แต่ไปเอาคนอื่นที่ไม่ใช่หมอมารักษาคนไข้ ผิดกฏหมายทั้งหมด ทั้งแพ่ง และอาญา และหากทำให้คนไข้ตายขึ้นมา ยิ่งผิดไปอีกหลายกระทง รวมไปถึงผิดจริยธรรมวิชาชีพดว้ย
แต่ปัจจุบันยังมีการโฆษณาหาหมอแขวนป้ายอย่างแพร่หลาย ทั้งในโซเชี่ยลและในเน็ท และแทบจะกลายเป็นเรื่องปรกติของสังคมแพทย์ในประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งก็เหมือนเป็นการสนับสนุนให้แพทย์บางส่วนมองว่า กูได้เงินก็พอคนไข้จะเป็นจะตายยังไงก็เรื่องของแม่ง ถ้าคนไข้ไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ ก็จ่ายเงินกันไป ตายกันไป หมอกับเจ้าของคลินิคก็รวยกันไป