ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 Thumb HealthServ.net
ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ThumbMobile HealthServ.net

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดย นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ดำเนินรายการวิทยุ Health Road หรือ เส้นทางสุขภาวะ

                 
 
       สืบเนื่องจากภาพข่าวในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับ ว่า “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ซึ่งปรากฏอยู่ในพระฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ลิส ทรัสส์ ) เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.ย. 65 และมีการลงข้อความเกี่ยวกับความเห็นของ ดร.เด็บ โคเฮน-โจนส์ แพทย์หญิงในเมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ว่าเป็นสัญญาณเตือน  “ควีน” ใกล้สวรรคตนั้น 
 
         นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล  จันทรพิทักษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์  สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ดำเนินรายการวิทยุ Health Road หรือ เส้นทางสุขภาวะ ขอเรียนชี้แจงและให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเพื่อความเข้าใจแก่ประชาชนคนไทยให้ได้รับทราบในกรณี “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำ บริเวณผิวหนัง ด้านหลังพระหัตถ์ด้านขวา ของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดังนี้ 
 

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 HealthServ
 


 
        1.สาเหตุที่ทำให้เกิด 
 
         ลักษณะ “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำ บริเวณผิวหนัง” ด้านหลังมือในคนทั่วไป พวกเราที่เป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล สามารถพบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย ในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องให้สารน้ำ (น้ำเกลือ)  หรือ ฉีดยา และแม้แต่การเจาะเลือดเพื่อเอาเลือดไปตรวจ ที่บริเวณหลอดเลือดดำที่ด้านหลังของมือ โดยเฉพาะผู้ที่สูงอายุ ที่หลอดเลือดอาจจะเปราะบาง การใช้เข็มเจาะเข้าไปภายในหลอดเลือดเพื่อดูดเลือดออกมาเพื่อเอาไปตรวจ หรือ ต้องคาเอาส่วนปลายเข็มไว้ในหลอดเลือดพื่อฉีดยา หรือให้น้ำเกลือเป็นเวลานาน ๆ ก็ตาม ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 
 
    -  มีการซึมของเลือดในหลอดเลือดออกมาสู่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ขณะที่คาเข็มไว้  หรือ ภายหลังชักเข็มออกมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สำลีกดผิวหนังบริเวณนั้นให้นานพอ  ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยมีประวัติเลือดหยุดยาก หรือในผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่านที่รับประทานยาที่ต้านการเกาะกลุ่มของเลือดช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เวลาชักเข็มออกแล้วเลือดจะหยุดยากกว่าคนทั่ว ๆ ไป จึงต้องกดด้วยสำลีสะอาดเอาไว้เป็นเวลานานพอทำให้เลือดไหลออกมาบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง 
 
    - เข็มที่อยู่ในหลอดเลือดอาจเคลื่อนออกมาภายนอกหลอดเลือดทำให้เลือดไหลออกบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเป็นจำนวนมาก 
 
   - ในระหว่างการให้น้ำเกลือผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวที่ข้อมือหรืออาจมีแรงดึงทำให้ส่วนต่อระหว่างเข็มกับสายน้ำเกลือหลุดออกจากกัน ทำให้มีเลือดไหลออกมาตามรูเข็มที่ยังคาอยู่ในหลอดเลือด บางครั้งเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมากได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เช่น เกิดเหตุการณ์นี้ยามค่ำคืนภายในห้องผู้ป่วย ซึ่งในกรณีนี้เลือดอาจจะไม่ได้ไหลออกมาบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง   


 
 
       2.เกิดอะไรขึ้นหลังจากเลือดไหลออกมาบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง 
 
         เลือดที่ออกมารอบหลอดเลือด และมาอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง บริเวณหลังมือ ซึ่งไม่ได้อยู่ลึกไปจากผิวหนังมากนัก  ในวันแรกอาจจะเห็นเป็นสีม่วงแดงที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห้อเลือด” แต่เมื่อผ่านไปในเลือดที่ออกมามีเม็ดเลือดแดง ที่มีแตกตัวและมีสารฮีโมโกลบิน (มีส่วนผสมของเหล็กอยู่ด้วย) กระจายออกไปพร้อมกับที่เลือดกระจายออกไปใต้ผิวหลัง ซึ่งต่อมาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็น “สีม่วงคล้ำค่อนข้างดำ” ท่านอาจเคยสังเกตเห็นจากประสบการณ์ของท่านเอง หรือ ขอยกตัวอย่างนักมวยหรือคนธรรมดาที่ถูกชกบริเวณคิ้วหรือเบ้าตา อาจทำให้เกิดอาการบวมรอบ ๆ ดวงตา จนบางครั้งบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีค่อนข้างดำ ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน 
 


 
           3.ป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไร? 
 
              จากข้อมูลในข้อ 1 และ 2 ท่านได้ทราบกลไกการเกิด “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำบริเวณผิวหนัง” แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทุกท่านควรทำคือการใช้สำลีสะอาดกดให้นานพอ ภายหลังจากที่มีการเจาะหรือแทงด้วยเข็มเข้าไปในหลอดเลือด 

 
 
           4.รักษาให้หายได้อย่างไร? 
 
          “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำบริเวณผิวหนัง” จะหายไปได้ด้วยการเร่งให้มีการดูดซึมสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นกลับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการเอามือไปแช่ในน้ำอุ่น เพื่อให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดแดงเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้มายังบริเวณนั้นให้มากขึ้น ก็จะมีการดูดซึมเอาสิ่งที่ทำให้เกิดสีเขียวคล้ำออกไปได้เร็วขึ้น  ในบางกรณีแพทย์อาจมีการสั่งยาทา ยานวด เพื่อเร่งการดูดซึมกลับเข้าร่างกายก็อาจเป็นได้แต่โดยปกติแล้ว หากไม่ได้มีพื้นที่เขียวม่วงคล้ำมาก อาการดังกล่าวก้จะหายไปเอง หรือเพียงการแช่น้ำอุ่นก็เป็นการเพียงพอ 





 
           5. “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำ บริเวณผิวหนัง” เป็นสัญญาณเตือนว่าผู้มีร่องรอยดังกล่าวว่าจะใกล้เสียชีวิต จริงหรือไม่? 
 
        จะขออนุญาตให้ความเห็นในกรณีทั่วไปว่าลักษณะ “รอยเขียวคล้ำค่อนข้างดำบริเวณผิวหนัง” เราสามารถพบเห็นได้อยู่เป็นปกติ เป็นประจำเป็นจำนวนมากในผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาล และมีการใช้เข็มเจาะเข้าไปในหลอดเลือดดำโดยเฉพาะผู้ที่สูงวัย และหลาย ๆ ท่านที่อ่านบทความนี้ก็อาจจะมีประสบการณ์ได้ด้วยตัวเองมาแล้ว 






 
        ดังนั้นตามข่าวและภาพข่าว การที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ ออกมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีหญิงท่านใหม่ได้ทรงยืนทรงพระวรกายอย่างสง่างามและทรงแย้มพระสรวล ณ เวลาที่เสด็จฯ ออกมาในขณะนั้นไม่น่าจะสรุปว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงใกล้สวรรคตจากการได้เห็นเพียงแค่ “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ของพระองค์เพียงเท่านั้น ส่วนการที่ 2 วันต่อมาพระองค์ทรงเสด็จสวรรคตนั้น อาจจะมีสาเหตุอื่นอีกมากมาย ที่ทำให้เกิดขึ้นได้  ซึ่งทางการแพทย์ในผู้ที่สูงวัยถึงประมาณ 96 ปี ย่อมอาจเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ อยู่แล้ว และการที่พระองค์ทรงได้รับการถวายการรักษาไม่ว่าจะเป็นการที่ทรงได้รับการถวายการเจาะพระโลหิตหรือการที่ทรงได้รับสารน้ำหรือน้ำเกลือจนทำให้ประชาชนทั่วไปเห็น “รอยด่างดำ” ที่พระหัตถ์ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีการพระประชวรอยู่ในระดับหนึ่ง การไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ถูกต้องและด่วนสรุปอาจทำให้ประชาชนสับสนได้ 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด