8 ธ.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถาน การณ์ของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในกลุ่มเด็กตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคลดลงไปด้วย
โดยสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC)ได้ออกประกาศเตือนทุกประเทศว่าการลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้โรคหัด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจที่ระบาดได้ง่าย กลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามผลบริการฉีดวัคซีนภาพรวมได้ลดลงทุกวัคซีน เช่น ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา พบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนหัดเข็มที่ 1 เป็นร้อยละ 86 และเข็มที่ 2 เป็นร้อยละ 82 ซึ่งได้ลดลงจากปี 2562 ซึ่งพบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 92 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 90
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรคหัดไว้แล้ว โดย สปสช. จะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้เมื่ออายุ 9 เดือน และรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สังเกตอาการ "โรคหัด"
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ ไข้ออกผื่น มักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหู แล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม และแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัวประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสียและสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา