สงกรานต์พระประแดง หนึ่งในงานสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ สืบสานอนุรักษ์ประเพณีชาวไทยรามัญ ในปีนี้ 2566 กำหนดจัดวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ชุมชน/หมู่บ้านชาวรามัญภายในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง จ.สมุทรปราการ
กิจกรรมในงาน
- การประกวดนางกรานต์ และหนุ่มลอยชาย
- พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- การกวนกาละแม
- การเล่นสะบ้า (สะบ้าบ่อน สะบ้าทอย)
- การแสดงทะแยมอญ ของชาวไทยรามัญ
- ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ
- ขบวนแห่นก แห่ปลา
- การแสดงแสงสี ณ โบราณสถานป้อมแผลงไฟฟ้า
- การเล่นน้ำสงกรานต์
- ชมการแสดงบนเวที
- เลือกซื้ออาหารพื้นบ้าน และอาหารอร่อย
เทศบาลเมืองพระประแดง เจ้าภาพการจัดงาน ได้มีการวางแผนการจัดงานเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในหลายด้าน ทั้งการจราจร การเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ จากกลุ่มมิจฉาชีพ การป้องกันการทะเลาะวิวาท การจัดเตรียมพิธีขบวนแห่นางสงกรานต์ การจัดประกวดหนุ่มลอยชาย และการละเล่นพื้นเมืองสะบ้ารามัน และกิจกรรมอื่นๆ
นางสาวจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพระประแดง กล่าวในโอกาสประชุมการจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 ว่า หลังจากเว้นวรรคจากการจัดการงานสงกรานต์พระประแดง ไปนานเกือบ 3 ปี จากสถานการณ์โควิด งานประเพณีสงกรานต์พระประแดงในปีนี้ คาดว่ามีประชาชนชาวอำเภอพระประแดง นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ร่วมงานประเพณีสงกรานต์พระประแดงเป็นจำนวนมาก จะนำเงินสะพัดภายในพื้นที่พอสมควร จึงขอเชิญชวนเดินทางมาเที่ยวชมงานสงกรานต์พระประแดง เพื่อสืบสานอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ เป็นที่ภาคภูมิใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
กำหนดการกิจกรรมสำคัญๆ อาทิ วันที่ 21 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ชมการประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย ณ เวทีประกวดหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง ส่วนวันที่ 23 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ชมพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผาชาติที่สวยงามตระการตา ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองพระประแดง ชมพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ตลอดงานชมการละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และหมู่บ้านรามัญ การแสดงทะแยมอญ การกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดง
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกว่า สงกรานต์ปากลัด เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรมซึ่งสืบทอดกันมา หัวใจของงานคือการจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่รถปุปผาชาติ การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย การฟื้นฟูสืบสานการละเล่นพื้นบ้าน สะบ้ามารัญ วัฒนธรรมการแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวมอญ (ชาวไทยเชื้อสายรามัญ)
สงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 @eatfuntravel.com