ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

บุคลากร รพ.สต.เกือบครึ่ง ขอย้ายกลับ หลังโอนไป อบจ.แล้วไม่เวิร์ค ปัญหาเพียบ

บุคลากร รพ.สต.เกือบครึ่ง ขอย้ายกลับ หลังโอนไป อบจ.แล้วไม่เวิร์ค ปัญหาเพียบ Thumb HealthServ.net
บุคลากร รพ.สต.เกือบครึ่ง ขอย้ายกลับ หลังโอนไป อบจ.แล้วไม่เวิร์ค ปัญหาเพียบ ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข เผย บุคลากร สอน./รพ.สต.ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ.บางส่วนมีความประสงค์ให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางช่วยย้ายกลับ จากหลายเหตุผล ทั้งความไม่พร้อมของ อบจ. ระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ภาระงานเพิ่มมากขึ้น โอกาสก้าวหน้าและความมั่นคงการทำงานไม่เท่าเดิม ระบบการทำงานยุ่งยากซับซ้อน นโยบายก่อนและหลังโอนย้ายทำไม่ได้จริง เกิดผลกระทบกับประชาชน

21 มกราคม 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565


จากการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจ พบว่า บุคลากรกว่า 40 % ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ประกอบด้วย

1.ความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนของ อบจ. ระบบใหม่ยังไม่ลงตัว ระเบียบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของสาธารณสุข โดยระบุว่าอยากให้โครงสร้าง อบจ. มีความพร้อมมากกว่านี้ถึงจะทำการถ่ายโอน และให้สมัครใจย้าย ไม่ใช่บังคับสมัครใจโดยนำกฎหมายมาอ้าง แต่ขาดความพร้อม ขาดความเข้าใจ


2.ภาระงาน ให้เหตุผลว่า ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของ รพ.สต. ทำให้ต้องหาเงินเข้า รพ.สต.ด้วย ขณะที่บุคลากร อบจ.ไม่เพียงพอและไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ ระบบบริการเดิมที่ดีอยู่แล้ว แย่ลงมาก ประชาชนได้รับผลกระทบ
 

3.ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยากและไม่มีความชัดเจน ความก้าวหน้าไม่เป็นไปตามโครงสร้าง การปรับเงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่า สวัสดิการและเงินค่าตอบแทนต่างๆ ได้ไม่เท่าเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้ไม่เท่าเดิม สิทธิการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นคงมากกว่า อปท.


4.ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนมาก ไม่มีความคล่องตัว ระบบการประสานงานข้ามกระทรวงยุ่งยาก ประสานงานลำบาก  ขอบเขตงานทันตกรรมไม่ชัดเจน ที่สำคัญ อบจ.ไม่มีทันตแพทย์รองรับการให้บริการทันตสุขภาพ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน อีกทั้งมิใช่การถ่ายโอนลงพื้นที่ตามเจตนารมณ์การกระจายอำนาจ การถ่ายโอนไป อบจ. เพิ่มชั้นความห่างของการทำงาน บาง รพ.สต. กว่าจะเดินทางมาถึง อบจ. มีระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ในพื้นที่ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งอยู่ใกล้ มีความใกล้ชิด เข้าใจระบบการทำงาน และทำงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

 
5.ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่าไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลังถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง หรือทำไม่ได้อย่างที่ออกนโยบาย ต้องรอความชัดเจน และเห็นว่างานสาธารณสุขควรอยู่กับสาธารณสุข



ทั้งนี้ มีบุคลากรส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่ได้อยากโอนย้าย แต่อยากทำงานที่ รพ.สต.เหมือนเดิม และขอให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์โอนย้ายกลับ ภายในปี 2568 โดยขอย้ายกลับในตำแหน่งเดิม เลขที่ตำแหน่งเดิม และมีแนวทางรองรับเจ้าหน้าที่ย้ายกลับให้ชัดเจน และขอให้ดำเนินการด้วยความพร้อม มิใช่รวบรัด เร่งรีบ ขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ มิใช่มาสร้างปัญหาให้เกิดความเดือดร้อน เกิดผลกระทบกับประชาชน ทำลายระบบสาธารณสุขที่พัฒนาสร้างมาเป็นอย่างดีจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

ผลสำรวจพบผลกระทบการให้บริการประชาชน

 
          เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรผู้ให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนแล้ว พบส่วนใหญ่ต้องปรับตัว และต้องการให้มีกำลังคนและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ส่วนค่าตอบแทนที่ได้รับหลังการถ่ายโอนและการบริการจัดการของหน่วยงานใหม่ พบร้อยละ 30 เริ่มผิดหวังที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และเริ่มพบผลกระทบการให้บริการประชาชน 
 
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน MIU (คณะอนุกรรมการฯ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา HITAP และทีมวิจัย MIU พบว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการถ่ายโอน สอน./ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ไปแล้ว 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด คณะอนุกรรมการฯ จึงได้สำรวจความเห็นของผู้ให้บริการใน สอน./รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปในประเด็นความเพียงพอของกำลังคน ทรัพยากร รวมถึงการสื่อสาร การประสานงาน ความสุขในการทำงาน และความคาดหวังในอนาคต เพื่อให้ทราบจุดแข็ง ปัญหา/อุปสรรค และความต้องการการสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนานโยบายให้มีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยทำการสำรวจช่วงเดือน ธันวาคม 2565 – มกราคม 2566
 
          นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นบุคลากร ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข และอื่นๆ จำนวน 780 คน ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ พบว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังต้องมีการปรับตัวหลังการถ่ายโอนสังกัด และต้องการให้สนับสนุนกำลังคนและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นด้านค่าตอบแทนที่ได้รับหลังการถ่ายโอน พบผู้ให้บริการร้อยละ 30 เริ่มรู้สึกผิดหวังที่ค่าตอบแทนและการบริหารจัดการของหน่วยงานต้นสังกัดใหม่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ สำหรับประเด็นด้านการประสานงานกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 33.76 ระบุ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พบเพียงร้อยละ 35.6 ระบุ สามารถเสนอข้อคิดเห็นหรือตั้งคำถามต่อการตัดสินใจ และพบบุคลากรไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44.67) ที่ยังมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน นอกจากนี้ พบว่ามีผู้ที่ต้องการให้หน่วยงานย้ายกลับไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงร้อยละ 28.46 เนื่องจากไม่ชินกับระบบใหม่ มีรายละเอียดการทำงานมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ลดลง รวมถึงมีขั้นตอนการจัดสรรและการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
 
          สำหรับการสำรวจประชาชนผู้รับบริการ จากการลงพื้นที่ศึกษา พบผลกระทบการให้บริการประชาชน เช่น ต้องให้ผู้ป่วยเดินทางไปทำแผลที่โรงพยาบาลชุมชน จากเดิมรับบริการได้ที่ รพ.สต., มีปัญหาการให้บริการด้านทันตกรรม ซึ่งเกิดจากการขาดบุคลากร, ขาดการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยพบว่าการบริการในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังดำเนินการได้เป็นเพราะหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขระดับพื้นที่ให้การสนับสนุนภารกิจที่มีการถ่ายโอนไปแล้วแก่ รพ.สต. อย่างไรก็ตาม อบจ. และ รพ.สต. ที่รับการถ่ายโอนต้องเร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการ จัดทำแผน จัดหาทรัพยากรเพิ่มเติม โดยเฉพาะกำลังคน รวมถึงกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ
 
          ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีกำหนดเวลาเก็บข้อมูลถึงต้นเดือนมกราคม 2566 ผลสรุปการวิเคราะห์จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจในอนาคต ดังนั้น จะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเมื่อได้ตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น เปรียบเทียบความเห็นตามลักษณะงานและสภาพการจ้างงาน รวมทั้งจำแนกผลการสำรวจตามเขตพื้นที่ เป็นต้น และจะใช้ประกอบกับข้อมูลประเมินผลการกระจายอำนาจอื่นๆ ซึ่งการศึกษาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การบริหารจัดการ ให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจด้านการจัดบริการสาธารณสุขที่ดีต่อไปในอนาคต

กำชับให้บริการ ปชช.ไร้รอยต่อช่วงเปลี่ยนผ่าน

 
           ในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่าน คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการถ่ายโอน รพ.สต. กำชับ อบจ.จัดหาบุคลากรสาขาวิชาชีพและทรัพยากร เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนต่อเนื่องหลังการถ่ายโอน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการช่วยเหลือช่วงเปลี่ยนผ่าน จัดทันตแพทย์ดูแลการทำงานของทันตาภิบาล พร้อมเสนอ 6 ประเด็นด้านวิชาการและติดตามประเมินผล
 
           7 ธันวาคม 2565 นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนจังหวัด ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนฯ โดยล่าสุด ดำเนินการแล้ว 40 จังหวัด 2,932 แห่ง เหลืออีก 9 จังหวัด รวม 331 แห่ง ซึ่งหาก อบจ.มีความพร้อมจะสามารถลงนามได้ทันที ส่วนรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว พบปัญหาบางแห่งต้องหยุดให้บริการทันตกรรม เนื่องจาก อบจ.ไม่ได้ประสานเรื่องการจัดทันตแพทย์ควบคุมการปฏิบัติงานของทันตาภิบาลใน รพ.สต. ตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.วิชาชีพ
 
                 นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ สอน. และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนฯ ได้รับบริการส่งเสริมป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดสนับสนุนทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุและเครื่องมือ เพื่อจัดบริการส่งเสริมป้องกันทางสุขภาพช่องปาก และการรักษาทางทันตกรรม ใน สอน.และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนฯ ตามที่ อบจ.ขอความอนุเคราะห์ในระยะเปลี่ยนผ่าน และ 2.จังหวัดที่ไม่มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในสังกัด อบจ. ให้แจ้ง อบจ. หรือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เร่งจัดจ้างหรือจัดหาผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม มาทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพของทันตาภิบาลใน สอน.และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพ
 
          “หลังการถ่ายโอนภารกิจไปแล้ว อบจ.ต้องเตรียมพร้อมทุกระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดหากำลังคนทั้งบุคลากรแพทย์ พยาบาล และผู้ควบคุมการประกอบวิชาชีพ เตรียมจัดหาและกระจายทรัพยากร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้กลไกในพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีช่วยสนับสนุนดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน” นพ.ณรงค์กล่าว
 
              นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการถ่ายโอนฯ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล ได้เสนอความเห็นแผนการดำเนินงานด้านวิชาการและติดตามประเมินผลใน 6 ประเด็นได้แก่  1.เร่งออกแบบกลไกความพร้อมของระบบสั่งการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน 2.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบทั้งหมดของ อบจ. หรือปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ 3.กระทรวงสาธารณสุขมีการมอบอำนาจเป็นระยะจนถึงระดับ รพ.สต. และผู้ปฏิบัติงาน แต่ อบจ.ยังไม่มีฐานอำนาจมารองรับ 4.ต้องมีการบริหารจัดการ ระบบแผนงาน ค่าตอบแทน งบประมาณ สร้างความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการต่างๆ 5.การจัดการคุณภาพของทรัพยากรต่างๆ ทั้งบุคลากร วัสดุสิ่งของ สร้างความเข้าใจในแผนงานงบประมาณเพื่อวางแผนระยะยาว และ 6.สถานที่บางแห่งอาจยังไม่พร้อมทั้งบุคลากรหรือทรัพยากร ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจยังไม่กระทบกับประชาชน แต่ในอนาคตข้างหน้าอาจจะเกิดผลกระทบ เช่น การเข้าถึงบริการไม่ได้ จึงควรวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาคนในพื้นที่ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม เป็นต้น
 
                ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาสุขซึ่งเป็นรองอนุกรรมการถ่ายโอน (ชุดนายเลอพงศ์) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การช่วยเหลือในระบบบริการต่างๆ ที่ได้ถ่ายโอนไป ซึ่งจะทำได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนี้ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจไปต้องเร่งจัดหาบุคลากรวิชาชีพต่างๆ ที่ต้องให้การดูแลในระบบบริการให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ และวิชาชีพต่างๆ ไม่ทำงานคลาดเคลื่อน อันจะเกิดความเสียหายได้

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด