25 มกราคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (15–21 ม.ค. 2566) รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 627 ราย เฉลี่ยวันละ 90 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 277 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 178 ราย ผู้เสียชีวิต 44 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 32.3
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 มีผู้หายป่วย สะสม 2,593 ราย เสียชีวิต สะสม 167 ราย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8-21 ม.ค. 2566
- พบผู้ติดเชื้อ 8 ราย โดยมีอาการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียง 1 ราย และที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
- สัญชาติที่ตรวจพบเชื้อ อันดับ 1 คือ จีน 3 ราย เมียนมา กัมพูชา ญี่ปุ่น อังกฤษและเกาหลีใต้ อย่างละ 1 ราย
อัตราการพบผลบวกต่อโรคโควิด 19 ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 (8-14 ม.ค. 2566) พบร้อยละ 1.7 สัปดาห์ที่ 3 (15-21 ม.ค. 2566) พบเพียงร้อยละ 0.5 จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานขณะนี้สายพันธุ์ที่พบในไทยมากที่สุดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 (86%) ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่นที่เคยพบในต่างประเทศ
จากการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางไปประเทศที่กำหนดให้ตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องนั้น ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รายงานข้อมูลการติดเชื้อโควิด 19 เข้าระบบโคแล็บ (Co-Lab) พบติดเชื้อประมาณ 300-400 ราย มีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยพบผลบวกในนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียง 10 กว่าราย (ประมาณร้อยละ 4 ของผู้เดินทางสัญชาติเดียวกัน)
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยไม่ต้องกักตัวหรือมีผลตรวจโควิด 19 และขณะนี้หลายประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปก็ใช้มาตรการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บางประเทศ มีมาตรการแตกต่างออกไป เช่น นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนครบ 2 โดส อย่างน้อย 14 วัน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180-270 วัน หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 และรักษาหายดีแล้ว หลักฐานการตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง หรือมีผลการทดสอบ Rapid Antigen Test ไม่เกิน 24 ชม. ก่อนเดินทาง เป็นต้น
“ขอให้ประชาชนยังคงดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงที่แออัดสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ให้ตรวจ ATK ทันที เพื่อป้องกันการนำเชื้อโควิด 19 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์ธเรศ กล่าว