กว่าจะมาเป็นแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone
แอปพลิเคชัน EarTest by Eartone (ฉบับภาษาไทย) ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนา
แอปพลิเคชัน Eartest by Eartone ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงจากปัญหาการได้ยิน สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองที่บ้าน ฟรี ผ่านเสียงพูดในอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับหูฟัง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร กล่าวในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 14 ว่า “แอปพลิเคชัน EarTest by Eartone เกิดจากโครงการวิจัย Thai Speech Acoustic Virtual Reality Test for the Detection of Early Dementia ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากประเทศอังกฤษ โดยมีความร่วมมือกับราชวิทยาลัยวิศวกรรม The Royal Academy of Engineering ภายใต้ทุน Transforming System through Partnership ผ่านโครงการ Newton Fund ทำให้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญจาก University College of London (UCL) ร่วมกับผู้ร่วมทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก British Council และกระทรวงอว. ผ่านโครงการ Thai-UK world class university consortium ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ
จุดเริ่มต้นโครงการร่วมทุนพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone นี้ จากเทคโนโลยีเดิม ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งการที่เราจะพัฒนาการตรวจลักษณะนี้ได้ ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะต้องมีความร่วมมือกับทางต่างประเทศด้วย ซึ่งทางทีมโชคดีมากที่ได้ร่วมมือกับทาง University College London โดยร่วมมือกับ Professor Stuart Rosen ผู้ที่พัฒนาการตรวจการได้ยินในภาษาต่าง ๆ เกือบทั่วโลก โดยเริ่มจากการเก็บรวบรวม ความคิดเห็นและความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้จริงมากกว่า 100 คน จากนั้นจึงนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด
ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราใช้เทคนิคแบบ Virtual Reality ซึ่งเป็นการจำลองห้องไร้เสียง สะท้อนสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการขั้นสูง เพื่อนำมาใช้ในการแปลผลของสมองด้านภาษา เพื่อวิจัยต่อไปว่าผู้รับการประเมินจะบ่งชี้เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมหรือ dementia ในอนาคตหรือไม่”
ต่อยอดต่อไป วินิจฉัยได้ทั่วประเทศ
ผู้บริหารของบริษัทเอียร์โทน เอกชนผู้ร่วมทุน ยังกล่าวเสริมอีกว่า “นอกจากเทคโนโลยีของแอปพลิเคชั่นแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ โดยทั่วไปแล้ว การตรวจการได้ยินจะทำในห้องเก็บเสียง ซึ่งจะต้องทำด้วยผนังเหล็ก บุภายในไม่ให้เสียงเข้าไป ซึ่งแต่เดิมเราจะต้องนำเข้าจากเมืองนอก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยการสนับสนุนจาก Eartone ซึ่งทำงานด้านการได้ยินมากว่า 30 ปีและเป็นเอกชนผู้ร่วมทุน Industrial partner ของโครงการ ได้พัฒนาตู้สำหรับตรวจการได้ยินตามมาตรฐานสากลได้รับการรับรองจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Unisearch เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถนำไปใช้ตามโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์ทั่วประเทศได้ ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคอีกแล้วสำหรับหน่วยอนามัย โรงเรียน โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ให้เหมือนกับมาตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ได้โดยมีผลไม่ต่างกันเลย
นอกจากนี้ ทีมร่วมพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชันตรวจการได้ยินเบื้องต้นที่มีอยู่เดิมของเอียร์โทน ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงการทดสอบที่ละเอียดขึ้น มีประสิทธิภาพและฟังค์ชั่นที่หลากหลาย ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานโดยผู้สูงอายุ”
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยได้พัฒนามาจนเกิดเป็นแอปพลิเคชัน Eartest by Eartone นี้ นับเป็นการเตรียมพร้อมของสังคมที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่ขณะนี้ ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก มุ่งยกระดับมาตรฐานการสร้างคน สร้างผู้นำรุ่นใหม่ การลงทุนในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนางานวิจัย เพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคต และสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสังคมให้ออกไปรับใช้สังคมด้วยงานวิชาการที่มีความยั่งยืนต่อไป”