ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก

สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก Thumb HealthServ.net
สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ThumbMobile HealthServ.net

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แสดงความเสียใจ กรณีผู้นำสตรีชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ยันมีนโยบายดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เตรียมตรวจสอบให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เผยส่งทีม SRRT สอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตและเฝ้าระวังไข้เลือดออกในชุมชนแล้ว สำหรับการเยียวยามาตรา 41 สปสช.เป็นผู้พิจารณา

    
 
         29 พฤษภาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการยื่นหนังสือจากทางเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เสรีภาพและความเป็นธรรม กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย จ.เพชรบุรี จากโรคไข้เลือดออก โดยระบุว่าเกิดจากการไม่ตระหนักในสิทธิมนุษยชนและมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในการให้บริการของโรงพยาบาลแก่งกระจานและโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ขอให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความเป็นธรรม รวมถึงเยียวยาความเสียหายตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ส่วนเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์นั้น สามารถประสานยื่นเรื่องไปยัง สปสช.ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเยียวยาตามมาตรา 41 โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด
 
             นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีร้องเรียนการให้บริการผู้ป่วยนั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้การดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนไม่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลแก่งกระจานก็มีการพัฒนาระบบบริการเพื่อรองรับการดูแลประชากรกลุ่มต่างๆ ทั้งในเรือนจำ 2,192 คน และกลุ่มชาติพันธุ์ 3,650 คน ให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลมากขึ้น มีการวางระบบนำส่งผู้ป่วยห่างไกลที่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง โดยมีการเปลี่ยนถ่ายให้รถโรงพยาบาลระหว่างทาง ช่วยลดระยะเวลาให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วขึ้น พัฒนาระบบ Tele-Health และ Sky doctor ส่งต่อผู้ป่วยภาวะวิกฤต ทั้งนี้ จะให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้บริการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่าโรคไข้เลือดออกนั้น อาการช่วงแรกจะมีความคล้ายกับโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคโควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก ซึ่งได้มีการกำชับให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการระบาดตามฤดูกาล
 
            เบื้องต้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ได้รายงานกรณีพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 44 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เข้ารับการรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ส่งต่อมาโรงพยาบาลพระจอมเกล้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 และเสียชีวิตวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 9.00 น. จึงให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) โรงพยาบาลพระจอมเกล้า สอบสวนโรคจากประวัติการรักษา และให้ทีม SRRT แก่งกระจาน ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติมและค้นผู้ป่วยในชุมชน เพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค พร้อมทั้งแจ้งให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคใน จ.เพชรบุรี รับทราบทั่วกันเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง โดยจะเฝ้าระวังการป่วยในชุมชนที่ผู้ป่วยพักอาศัยต่อเนื่องจนกว่าโรคจะสงบ และดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรฐานการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก
สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก HealthServ

ไทยพีบีเอสรายงาน


 สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานข่าว การเสียชีวิตของนักต่อสู้ท่านนี้ไว้ ในข่าว "ไข้เลือดออก" คร่าชีวิตนักต่อสู้ ชาวบางกลอย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ระบุว่า นางกิ๊ฟ ต้นน้ำเพชร เป็นแกนนำเรียกร้อง สิทธิชุมชนให้กับคนในหมู่บ้นบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 24  พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอยให้ข้อมูลไทม์ไลน์อาการผู้ป่วยว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤษภาคม นางกิ๊ฟ เริ่มเป็นไข้ หนาวสั่น มีอาการน่าเป็นห่วง จากนั้นสามีจึงพาขึ้นรถกระบะออกจากหมู่บ้าน ในชุมชนกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน ตามสิทธิบัตรทอง ราว เวลา 14.00 น.  ระยะทางจากบ้านไปถึงโรงพยาบาลราว 18 กม. ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ถนนค่อนข้างขรุขระคดเคี้ยว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลราว 17.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าหมดเวลาเจาะเลือด จึงให้กลับบ้านไปก่อนและกลับมาใหม่วันรุ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 23  พฤษภาคม 2566 อาการค่อนข้างหนัก สามีพาไปโรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง ถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลา 6.00 น. ได้รับบัตรคิวและเข้ารับการตรวจกับแพทย์เมื่อเวลา 12.00 น. แพทย์แจ้งญาติว่านางกิ๊ฟ อาการหนัก ต้องส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลจังหวัด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลพระจอมเกล้า เวลา 13.00 น. เข้ารักษาใน ICU ทันที ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 24 พฤษภาคม โรงพยาบาลได้แจ้งว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก
 

"เรื่องที่ญาติคาใจ คือ ผู้ป่วยเคยแอดมิท ด้วยโรคขาดฟอสฟอรัสในเลือด (ต่ำ) และมีปัญหาเรื่องไต เจ้าตัวรู้ แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่าพี่กิ๊ฟไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย เป็นไข้เลือดออกอย่างเดียว พอตรวจเจอว่าหนัก ถึงส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัด ก็เข้าไอซียูเลยทันที แล้วก็เสียชีวิตโดยที่ทางโรงพยาบาลวินิจฉัยออกมาว่า โรคแทรกซ้อนเยอะ และมาช้าไป" - ผู้ประสานงานเครือข่าย Saveบางกลอย ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอส 
 
เบื้องต้นเครือข่าย แจ้งข้อมูลการเสียชีวิตของนางกิ๊ฟ  ไปยังสายด่วน สปสช.1330 แล้ว เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลไว้ 
 
สำนักงานสาธารณสุขเพชรบุรีรับทราบกรณีนี้แล้ว หลังได้รับเรื่องขอให้มีการตรวจสอบการให้บริการของโรงพยาบาลว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ ชี้แจงข้อเท็จจริงภายใน 7-15 วัน 
 
สถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ใน 8 อำเภอ พบว่าแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าหน้าฝน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เฝ้าระวังและควบคุมโรคได้
 
 
 
 

ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่

 
โรงพยาบาลแก่งกระจาน ได้ดำเนินกิจกรรมมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่อ.แก่งกระจาน อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

19 พฤษภาคม 2566 งานควบคุมโรค รพ.แก่งกระจาน ร่วมกับอสม. ลงพื้นที่ โรงเรียนบ้านหนองสะแก หมู่ที่ 5 และ  โรงเรียนบ้านทุ่งเคล็ด หมู่ที่ 8  ต.วังจันทร์ อ.แก่งกระจาน ในโอกาสที่โรงเรียนปิดเทอม ทำการพ่นหมอกควัน ใส่ทรายอะเบท คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ให้สุขศึกษาแนะนำเบื้องต้นแก่ครูนักเรียน จากการสำรวจไม่พบลูกน้ำ ค่า HI=0 CI=0 BI=0 ทั้งสองโรงเรียน
 
26 พฤษภาคม 2566 แพทย์หญิงอนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแก่งกระจาน นายแพทย์ปางชนม์ เตี้ยแจ้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองหญ้าปล้อง และนายสุขประเสริฐ ทับศรี สาธารณสุขอำเภอแก่งกระจาน นายบุญธรรม กลิ่นสน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแม่เพรียง และทีม SRRT อำเภอแก่งกระจาน ร่วมประชุม วางแผนและแก้ไขปัญหาการระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ณ สำนักงาน สาธารณสุขอำเภอแก่งกระจาน โดยได้ข้อสรุป ดังนี้คือ ดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือทีมที่ 1 ตรวจรักษา มีการตรวจคัดกรองและรักษาเบื้องต้นและให้สุขศึกษา และทีมที่ 2 คือ ทีมควบคุมโรค ลงพ่นหมอกควัน ใส่ทรายอะเบท และจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบบ้าน แจกโลชั่นกันยุงพร้อมให้ สุขศึกษาและคำแนะนำเบื้องต้นแก่ซาวบ้านในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย

วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 นำทีมโดยแพทย์หญิงอนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล แก่งกระจาน นายแพทย์ปางชนม์ เตี้ยแจ้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองหญ้าปล้อง และ นายสุขประเสริฐ ทับศรี สาธารณสุขอำเภอแก่งกระจาน นายบุญธรรม กลิ่นสน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยแม่เพรียง และทีม SRRT อำเภอแก่งกระจาน พร้อมทั้ง อสม. ลงพื้นที่ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการพ่นหมอกควัน ใส่ทรายอะเบท และจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบบ้าน ครอบคลุมทั้งพื้นที่โปงลึก-บางกลอย และให้สุขศึกษา แจกสเปรย์และโลชั่นกันยุง พร้อมทั้งมีการคัดกรองเบื้องต้น โดยการทำ Tourniquet test และ StripNSAAg ในผู้ป่วยที่มีอาการ 30 ราย ผลบวก 24 ราย เข้าการรักษาเพื่อ ยืนยันผลการตรวจ Admit โรงพยาบาลแก่งกระจาน 17 ราย
 
สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก HealthServ

แถลงการณ์ ภาคีเซฟบางกลอย


ด้านภาคีเซฟบางกลอย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อกรณีการเสียชีวิตของคุณกิ๊ฟ ต้นน้ำเพชร ไว้ดังนี้ 

เราสูญเสียนักต่อสู้ เพียงเพราะโรคความป่วยไข้ทางสังคม
 
​วันที่ 24 พค. ที่ผ่านมา เราต้องสูญเสียพี่กิ๊ป ต้นน้ำเพชร นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชน แห่งบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากโรคไข้เลือดออกที่แพร่ระบาดภายในชุมชน การสูญเสีย-เราอาจมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ ที่ย่อมต้องมีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กัน แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมสำหรับพี่น้องบางกลอย ที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิต และต่อสู้เพื่อให้ได้กลับไปยังบ้านเกิด บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สำหรับการสูญเสียพี่กิ๊ป ในครั้งนี้ มันเกิดจากโรคความป่วยไข้ทางสังคม ที่ดำเนินมานับสิบๆปี
 
​สาเหตุการสูญเสียด้วยโรคความป่วยไข้ทางสังคม เนื่องจาก
 
1. อคติทางชาติพันธุ์
​โรงพยาบาลแก่งกระจาน เป็นโรงพยาบาลประจำท้องที่ มีหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ โดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ มีหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกศาสนา เพศ และเชื้อชาติ แต่ข้อเท็จจริงจากปากคำของพี่น้องบางกลอย พบว่า ทุกครั้งที่มีการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล พวกเขาถูกเลือกปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางคำพูดวาจา สีหน้า ท่าทาง และความไม่เร่งรีบรักษาผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้โรงพยาบาล กลับกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่พี่น้องบางกลอยจะนึกถึง
2. สภาวะการขาดสารอาหาร
​ตั้งแต่การถูกบังคับอพยพลงมา เจ้าหน้าที่รัฐที่เคคยกล่าวอ้างว่า จะจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้อง จนถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ก็ไม่มีการจัดสรร หรือจัดสรรเพียงบางส่วน ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่สามารถทำกินได้ ไม่สามารถดำรงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้ ทำให้พี่น้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้เกิดการขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ เมื่อโรคตามฤดูกาลเข้ามา ก็ยิ่งซ้ำเติม ทำให้อาการหนักกว่าปกติ จนนำมาสู่การสูญเสีย
 
​สุดท้าย ทางภาคีเซฟบางกลอย ขอไว้อาลัยแก่การจากไปของพี่กิ๊ป และยืนยันในการต่อสู้เคียงข้างพี่น้องบางกลอย และพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคน เพื่อทำลายอคติทางชาติพันธุ์ เพื่อทวงคืนสิทธิชุมชน และวิถีวัฒนธรรม เรามาร่วมมือกัน รักษาโรคของความป่วยไข้ทางสังคม ให้หายจากสังคมไทย
สธ.แจง กรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ผู้นำสตรีชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด