ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

หมอทวีศิลป์ เผยปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน เปิดแนวทางดูแลแพทย์ชดใช้ทุน

หมอทวีศิลป์ เผยปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน เปิดแนวทางดูแลแพทย์ชดใช้ทุน Thumb HealthServ.net
หมอทวีศิลป์ เผยปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน เปิดแนวทางดูแลแพทย์ชดใช้ทุน ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข เผย ปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน ต้องใช้เวลาแก้ไข ความต้องการแพทย์ปีละประมาณ 2 พันกว่าคน แต่ได้รับจัดสรรปีละ 1,800 - 1,900 คน ขณะที่ภาระงานไม่ได้ลดลง จึงต้องผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อคงไว้ในระบบ พร้อมทั้งดูแลสมดุลชีวิตและการทำงานรวมถึงค่าตอบแทนและความก้าวหน้าของบุคลากรทั้งระบบ รวมทั้งการดูแลแพทย์ชดใช้ทุนที่ไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งด้านความเป็นอยู่ และการฝึกเพิ่มพูนทักษะความชำนาญ

 
          6 มิถุนายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แถลงข่าวปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข หลังจากกระแสข่าวเรื่องแพทย์ลาออกจำนวนมาก ว่า ปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังคนในระบบสาธารณสุขเกิดขึ้นทั้งวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล นักรังสีการแพทย์ ฯลฯ โดยในส่วนของแพทย์ อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข  24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็น สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1: 2,000 คน ถือเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก
 
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า กำลังการผลิตแพทย์ภาครัฐและเอกชนรวมกันได้ปีละ 3,300 คน จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) และมีหน่วยงานรับจัดสรรหลายสังกัด ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800 - 1,900 คน โดยปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน ที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%
หมอทวีศิลป์ เผยปัญหาขาดแคลนแพทย์สะสมมานาน เปิดแนวทางดูแลแพทย์ชดใช้ทุน HealthServ
 
 
          สำหรับเรื่องภาระงานมาก จากการสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ มี 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง ได้มีการวางแผนแก้ไขเป็นระยะ 3, 6, 9, 12 เดือน สามารถลดชั่วโมงการทำงานได้แล้ว 20 แห่ง ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะก่อนไปศึกษาต่อ, แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน กลุ่มนี้จะมากสุดเนื่องจากสามารถไปศึกษาต่อได้แล้ว, แพทย์ใช้ทุนปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน รวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จึงมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบพบว่า แพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90% เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่
 
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ 1.การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ 2.สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 3.ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น และ 4.เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย
 
 
         2 มิถุนายน 2566 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมวางแนวทางดูแลการเพิ่มพูนทักษะแพทย์ผู้ทำสัญญาชดใช้ทุนรัฐบาล ที่ไปปฏิบัติงานในเขตสุขภาพต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลที่เป็นสถาบันฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะ 116 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้แพทย์ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในพื้นที่ได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย รวมถึงได้รับการถ่ายทอดทักษะความชำนาญจากแพทย์รุ่นพี่ที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ โดยให้กำชับทุกแห่งให้ความสำคัญ 2 ส่วน คือ 1) ความเป็นอยู่ ให้ดูแลทั้งเรื่องที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก 2) การเพิ่มพูนทักษะ ต้องจัดการเรียนการสอน ภายใต้การดูแลของแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามแนวทางที่แพทยสภากำหนด จัดแพทย์ประจำดูแลควบคู่ทุกเวร โดยเฉพาะการปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน ทั้งนี้ จะมีการส่งข้อมูลข้อดีข้อเสียที่ได้รับมาเพื่อสะท้อนให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้รับทราบด้วย
 
 
         นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับแพทย์ที่จะไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมี 2 กลุ่ม คือ

        1) กลุ่มแพทย์โครงการที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมผลิต รวมถึงแพทย์พี่เลี้ยงและแพทย์หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งกระจายโควตาไว้ในแต่ละเขตสุขภาพแล้ว

        2) กลุ่มแพทย์ใช้ทุนโครงการทั่วไปที่ผลิตโดยสถาบันแพทยศาสตร์ (กสพท.) ซึ่งจะมีการจับสลากเลือกพื้นที่ เพื่อเติมโควตาที่ยังว่างในแต่ละเขตสุขภาพ โดยการคิดโควตาแพทย์ใช้ทุนจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองตามลำดับชั้น และใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกันทั้งข้อมูลแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนที่ยังขาดแคลน


        ข้อมูลการจัดสรรแพทย์ย้อนหลัง 5 ปี จำนวนแพทย์ที่คงอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในปีนั้น และนำมาเกลี่ยการจัดสรรให้เหมาะสม โดยในปี 2566 ได้รับจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปี 1 จำนวน 2,014 คน ขณะที่โรงพยาบาล 116 แห่ง สามารถฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะได้ 3,157 คน เขตสุขภาพที่มีศักยภาพการฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะค่อนข้างสูง จึงมีการจัดสรรแพทย์นอกสังกัดฝากฝึก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง นอกจากนั้น โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่งที่มีภาระงานมาก เขตสุขภาพยังมีวิธีการบริหารจัดการ เช่น จัดให้แพทย์ใช้ทุนปี 2 และ 3 มาช่วยปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยจัดให้ระยะเวลาการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนน้อยลง ทำให้มีจำนวนแพทย์ปฏิบัติงานในสถาบันเพิ่มพูนทักษะเพิ่มขึ้น


 
         ในปีนี้ บางเขตสุขภาพได้รับจัดสรรแพทย์ลดลง ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าเป็นเขตสุขภาพที่เคยได้มากมาก่อน อย่างไรก็ตาม การจัดสรรแพทย์ของปีนี้ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ โดยรอบปกติที่จัดสรรไปแล้ว ประกอบด้วยแพทย์ทั่วไปจับสลาก 685 คน แพทย์โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม 885 คน แพทย์หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว 119 คน แพทย์พี่เลี้ยง 166 คน แพทย์สังกัดกรมฯ 6 คน  ข้าราชการลาศึกษา 19 คน แพทย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ฝากฝึก (แพทย์นอกสังกัดฝากฝึก) 134 คน และยังมีแพทย์ที่อยู่ระหว่างการบรรจุรอบพิเศษ เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งเมื่อรวมแพทย์ทั้งหมดที่จะจบการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะในปีที่ 1 แล้ว จะสามารถเติมเต็มความขาดแคลนแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนได้มากกว่าร้อยละ 90 นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้าย

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด