ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด

2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด HealthServ.net
2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด ThumbMobile HealthServ.net

จากกรณีเกิดเหตุ ถังดับเพลิงระเบิด ขณะกำลังซ้อมดับเพลิง แผนอพยพหนีไฟ ภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนชายเสียชีวิต 1 ราย ทำให้กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งระงับและรื้อระบบการฝึกซ้อมดับเพลิงใหม่ สั่งตรวจสอบถังดับเพลิงทุกเขตเข้มข้น เปลี่ยนทิ้งที่ชำรุด จัดซื้อถังใหม่ประมาณ 10,000 ถัง มาทดแทน

2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด HealthServ

จากกรณีเกิดเหตุ ถังดับเพลิงระเบิด ขณะกำลังซ้อมดับเพลิง แผนอพยพหนีไฟ ภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2566 นักเรียนบาดเจ็บ 5 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นนักเรียนชายถูกแรงระเบิด และอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าหน่วยงานใดเข้าซ้อมแผนอพยพหนีไฟในครั้งนี้
 
เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวถึงสาเหตุ คาดว่าเป็นการระเบิดจากถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) หรือถังดับเพลิงสีแดง ที่ใช้ฝึกซ้อม ซึ่งปกติถังดับเพลิงจะมีตัวตัดเมื่อมีแรงดันสูง แต่ถังที่ระเบิดอาจมีปัญหาทางเทคนิคทำให้มีแรงอัดจนเกิดระเบิด [ThaiPBS]



ปฏิกิริยาจากผู้ว่า ทันทีหลังเหตุการณ์

"ไม่ว่าถังดับเพลิงดังกล่าวจะเป็นถังส่วนตัวที่นำมาเองหรือถังของ กทม. เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องมีการเยียวยาทั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ รวมถึงเด็กนักเรียน เนื่องจากอยู่ในสภาพเสียขวัญ จำเป็นต้องนำนักจิตวิทยาของกรุงเทพมหานคร เข้ามาดูแลสภาพจิตใจ พร้อมทั้งทบทวนการทำงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร"


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
จากเหตุการณ์โรงเรียนราชวินิตมัธยม
2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด HealthServ

กทม.สั่งระงับ-รื้อระบบฝึกซ้อมทันที 

24 มิ.ย.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุถังดับเพลิงระเบิดระหว่างซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม​​ เขตดุสิต 
 
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ทางตำรวจก็ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ของเราทั้งหมดแล้ว ในส่วนการดำเนินการของกทม. เมื่อเช้านี้ได้เรียกหน่วยงานทั้งหมดมา โดยให้ยุติการซ้อมทั้งหมดจนกว่าอุปกรณ์ทั้งหมดจะได้รับการตรวจเช็ค ขอชี้แจงว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ้อมเมื่อวานนี้ที่เป็นถัง

คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่ถังที่อยู่ในชุมชนและสถานที่ราชการที่เราติดไว้ ถังคาร์บอนไดออกไซด์เป็นถังที่จะถูกเก็บไว้ที่สถานีดับเพลิงของเรา ซึ่งตอนนี้ถูกเรียกเก็บทั้งหมดและไม่ให้มีการซ้อมโดยใช้ถังคาร์บอนไดออกไซด์ และสัปดาห์หน้าจะเริ่มให้ทางสถานีดับเพลิงทุกสถานี และสำนักงานเขต ร่วมกับประธานชุมชนลงตรวจพื้นที่ทั้งหมดที่มีถังดับเพลิงที่เป็นถังเคมีแห้งที่อยู่ หากเป็นถังเก่า ใช้ไม่ได้ หรือถังที่ประชาชนอาจไม่มั่นใจ จะให้ทำการเก็บทั้งหมด ส่วนถังที่ได้มาตรฐานและมีการทดสอบพร้อมการเติมสารเคมีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้



สำหรับการซ้อมดับเพลิงให้หยุดทั้งหมด และออกขั้นตอนในการตรวจสอบที่เรียกว่า visual inspection คือการตรวจสอบในเบื้องต้น โดยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ชุมชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ อาทิ การดูเกจ์วัดค่าความดัน สลัก ความกรอบของสายดับเพลิง ขนาด ความบวมของถัง สนิมที่ถัง เป็นต้น ถ้าพบสามารถแจ้งย้ายถังกับสำนักงานเขตพื้นที่ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความกังวลใจ พบถังดับเพลิงที่มีลักษณะไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งผ่านทาง Traffy Fondue 


รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า หากจะมีการฝึกซ้อมกลับมา จะรื้อระบบการฝึกซ้อมทั้งหมด ต่อไปนี้เป็นการซ้อมแห้ง ที่ไม่มีการฉีดพ่น เป็นการใช้ถังเปล่าที่ไม่มีการอัดแรงดันใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซ้อมกับโรงเรียนหรือนักเรียนที่ต้องการความปลอดภัยสูง ใช้เกณฑ์การเว้นระยะ ไม่อนุญาตให้มีการซ้อมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การใช้อุปกรณ์ในการซ้อมต้องได้มาตรฐานและผ่านการตรวจสอบทุกครั้ง ปรับการฝึกซ้อมให้เป็นการให้ความรู้โดยปลอดภัย และจะร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปรับมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมดโดยการใช้มาตรฐานร่วมกัน 

 
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ถังที่ใช้ฝึกซ้อมมีแรงดันสูงมากกว่า 800 PSI ถังทั่วไปที่อยู่ในชุมชน จะเป็นถังเคมีแห้งแรงดัน 190 PSI เรียกได้ว่าข้อแตกต่างคือถังแบบเคมีแห้งมันจะมีเกจ์ที่วัดความดันอยู่ แต่ว่าทั้งถังที่ใช้ซ้อมไม่มีเกจ์ จะใช้วิธีวัดน้ำหนักเอา จะมีวาวน์ที่ปล่อยเวลาเกิดความดันสูง ถังที่เราซื้อให้สำหรับการฝึกซ้อม อันนี้ก็คงต้องใช้ถังที่ได้มาตรฐานเพราะว่าถังนี้ต้องมีการตรวจสอบทุก 5 ปี มีการทดสอบด้วยแรงดันไฮโดรสแตติก ก็คืออัดแรงน้ำเข้าไปให้เกินค่ามาตรฐานกี่เท่าเพื่อให้มั่นใจว่าตัวนี้จะรองรับได้อยู่ต้องปรับแล้วก็ได้สั่งการให้ทำบัญชีของถังทั้งหมด ต่อไปจะมีระบบ GPS ให้รู้เลยว่าชุมชนนี้มีถังอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ละถังตรวจสอบเมื่อไหร่คือเราใช้เป็นระบบที่ขึ้นพิกัด GPS ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ก็จะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนร่วมกับอาสาสมัครเทคโนโลยีในการเอาผังพวกนี้ขึ้น ซึ่งเริ่มทำแล้วบางที่ในเขตบางกอกใหญ่ พอเราได้ทั้งหมดทุกชุมชนแล้วขยายไปยังชุมชนอื่น เมื่อประกอบร่างกันหลายชุมชน ก็จะเห็นถังทั้งกรุงเทพฯ เลยว่าถังแดงอยู่ตรงไหนบ้าง จะรู้ว่าถังนี้หมดอายุเมื่อไหร่ แล้วก็ตรวจสอบล่าสุดเมื่อไรนำพวกเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

 
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวอีกว่า ถังดับเพลิงที่มีอยู่ ถ้าเป็นถังปฏิบัติการจะเป็นถังที่สั่งซื้อทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนถังที่ใช้ในการฝึกซ้อมมีทั้งถังที่เราสั่งซื้อ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นวิทยากร แล้วได้รับการสนับสนุนมา หรือมีการซื้อถังเพื่อให้จำนวนมีมากพอกับความต้องการในการฝึกซ้อม จึงมีถังที่ถูกจัดซื้อในลักษณะนี้อยู่ ที่ไม่ใช่การจัดซื้อโดยตรงจากงบประมาณของกทม. อย่างไรก็ตาม แม้เป็นถังที่ซื้อมาเพื่อฝึกซ้อม สาธิต ก็เป็นถังต้องซื้อตามมาตรฐานที่กำหนด 

 
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ขณะนี้ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้สอดคล้องกับที่ทางตำรวจมีสำนวนมา อีกทั้งยังรอสำนวนของพิสูจน์หลักฐานอยู่ด้วย เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเป็นความผิดในลักษณะไหน เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่แล้วทำตามมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ทางพิสูจน์หลักฐานยังไม่ได้ส่งข้อมูลให้แต่จะมีการเกาะติดเรื่องนี้และไม่ปล่อยแน่นอน ไม่ว่าจะเกิดจากประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ไม่ดำรงอยู่ในมาตรฐานการฝึก ทางคณะกรรมการสอบสวนจะทำการอย่างรัดกุมและเคร่งครัดที่สุดไม่ลดหย่อน 

 
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการฝึกซ้อมที่โรงเรียนราชวินิต มีหนังสือขอความสนับสนุนมาจากโรงเรียนชัดเจน และมีการอนุมัติจากผอ.สปภ. ซึ่งการขอความสนับสนุนการฝึกซ้อมก็เคยมีมาอยู่แล้ว จากที่ได้คุยกับพนักงานดับเพลิงหลายคน ทุกคนบอกว่าไม่เคยมีกรณีถังคาร์บอนไดออกไซด์ระเบิดแบบนี้ ซึ่งเหตุการณ์นี่ทางกทม.ก็รับไม่ได้เช่นกัน เพราะเรามีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่ประชาชนต้องมาบาดเจ็บเสียชีวิตจากการดำเนินการหรืออุปกรณ์ที่เรานำไปสอน ต้องตรวจสอบให้ละเอียดและต้องเกิดขึ้นอีกไม่ได้เลยในอนาคต   
เรื่องการเยียวยาผู้บาดเจ็บเสียชีวิต มีเงินเยียวยาแต่ไม่ใช่จำนวนมาก เพราะเป็นไปตามระเบียบระเบียบราว 29,700 บาท สำหรับผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ประสบภัย 4,000 บาท ที่เรียกว่าค่าปลอบขวัญ ส่วนการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลกรุงเทพมหานครออกให้ทั้งหมด แต่เงินเท่าไรก็ไม่มีทางคุ้มกับชีวิตที่เสียไปกับน้องที่เสียชีวิตไป
2 สัปดาห์หลังเหตุถังดับเพลิงระเบิด กทม.ปูพรมตรวจสอบ-เปลี่ยนถังใหม่หมด HealthServ

ปูพรมตรวจสภาพถังดับเพลิงทั้ง 50 เขตกว่า 40,000 ถัง เร่งจัดซื้อถังใหม่ทดแทนถังชำรุด


6 ก.ค. 2566 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสภาพถังดับเพลิงว่า จากการปูพรมตรวจสภาพถัง 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้ง 50 สำนักงานเขต นั้น ตัวเลขที่ตรวจยังไม่ครบ 100% จะเห็นว่าเราตรวจถังไปทั้งหมด 44,160 ถัง ใช้งานได้ปกติประมาณ 26,000 ถัง จัดเก็บมา 19,657 ถังเนื่องจากชำรุด อยู่ระหว่างการส่งไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลาย ขณะนี้กำลังดำเนินการติด QR Code ถังที่ยังอยู่ในชุมชน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 3,737 ถัง จากนั้นสำนักงานเขตจะปูพรมและบันทึกข้อมูลของถัง ซึ่งแต่ละถังจะมีข้อมูล 3 อย่างด้วยกันคือ เป็นถังประเภทไหน บำรุงรักษาล่าสุดเมื่อไหร่ และติดอยู่ที่ตำแหน่งไหน ประโยชน์สุดท้ายคือจะทำให้วิเคราะห์ได้ว่ายังมีชุมชนไหนที่ยังขาดเครื่องมือ เมื่อดำเนินการติดตั้งให้แล้วความสามารถชุมชนในการเผชิญเหตุเบื้องต้นก็จะดีขึ้น ต่อไปจะจัดระบบให้มีการตรวจถังทุกปีโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขต อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและประธานชุมชน
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่โรงเรียนราชวินิตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ได้แจ้งทางผู้บริหารว่าการตรวจถังนั้นไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อน เป็นหน้าที่ที่ต้องไปตรวจอยู่แล้ว ขอให้ทำมาตรการเชิงรุกด้านอื่นด้วยเช่น หัวแดงดับเพลิงในชุมชน การดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการป้องกันอัคคีภัย เป็นบทเรียนที่ต้องนำไปปรับปรุงการให้บริการให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันไม่ต้องกังวลเรื่องถังชำรุดเนื่องจากขณะนี้มีการจัดซื้อถังใหม่ประมาณ 10,000 ถัง มาทดแทน
 

 
กทม.เตรียมส่งถังดับเพลิงลอตแรกกว่า 9 พันถังแทนถังเก่าในพื้นที่เสี่ยงสูง
 
3 กรกฎาคม 2566 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์ และพบปะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์สำหรับท้องถิ่น (Incident Command System) ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้จัดให้แก่ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต
 
รองฯทวิดา กล่าวว่า การทำความ เข้าใจในระบบการบัญชาการเหตุการณ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้อำนวยการเขตของ กทม. เนื่องจาก กทม.มีการบริหารจัดการที่ต่างจากท้องถิ่นอื่น โดย ผอ.เขตมีหน้าที่เทียบเท่ากับนายกเทศมนตรี ต้องรู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ จะบัญชาอย่างไร หรือเกิดเหตุในพื้นที่รอยต่อร่วมกับจังหวัดอื่นจะต้องทำอย่างไร งานด้านป้องกัน งานสืบสวนสอบสวนต้องทำอย่างไร ซึ่งการที่ทาง ปภ.เข้ามาช่วยจัดหลักสูตรให้ เพราะมีข้อมูลการทำงานของท้องถิ่นอื่นๆ ที่ผอ.เขตจำเป็นต้องรู้ด้วย เมื่อเกิดเหตุที่ต้องจัดการจะได้พูดภาษาเดียวกัน เข้าใจ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้เห็นความตั้งใจของ ผอ.เขตในการเข้าร่วมอย่างเต็มที่ทั้งวิชาการและฝึกปฏิบัติ
 
ในส่วนของการตรวจสอบถังดับเพลิง เชิงรุกทั้ง 50 เขตนั้น ขณะนี้หลายเขตทำไปได้ 60-70% แล้ว แต่บางเขต มีชุมชนในพื้นที่จำนวนมากอาจจะได้ ประมาณ 30% และการเข้าถึงพื้นที่ค่อนข้าง ใช้เวลาในการซอกแซก อย่างไรก็ตามทุกเขตกำลังระดมเจ้าหน้าที่สำรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าจะทำได้ครบทุกชุมชน กว่า 2,000 ชุมชนทั่ว กทม.ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะเก็บถังที่ไม่อยู่ ในสภาพพร้อมใช้งานกลับทั้งหมด ส่วนถัง ที่ใช้งานได้จะทำการปักหมุดลงพิกัดในแผนที่ พร้อมติดสติ๊กเกอร์ QR code แสดงอายุ ของถังและประวัติการตรวจสอบถังให้ชัดเจน ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงสูงที่เป็น พื้นที่สีแดงซึ่งเก็บถังเก่าไปจะเร่งนำที่จัดซื้อ ใหม่ลอตแรก 9,779 ถัง ไปทดแทนก่อน และเร่งจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นกว่าถัง เพื่อติดตั้งทดแทนในพื้นที่สีส้มที่เสี่ยงรองลงมาต่อไป
 
“ประชาชนในชุมชนต่างตื่นตัวให้ ความร่วมมือในการตรวจ ทุกครั้งที่ออกไป สำรวจ ผอ.เขต และประธานชุมชน จะมี การเตรียมรวบรวมรอไว้พร้อมตรวจ ซึ่ง เบื้องต้น อปพร. ในพื้นที่ที่รู้วิธีการจะช่วย เป็นกำลังในการตรวจ แต่หากประชาชนไม่มั่นใจสามารถโทร. 199 หรือแจ้งผ่าน Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ดับเพลิงมาตรวจ โดยหลายชุมชนอยากให้สาธิตวิธีการด้วย”
 รศ.ทวิดา กล่าว

เขตต่างๆ เริ่มดำเนินการตรวจถังเก่า

เขตประเวศ จัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนเก็บถังดับเพลิงในชุมชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ส่งไปกำจัดต่อไป

เขตราชเทวี สำรวจถังดับเพลิงในชุมชน พร้อมติดตั้ง QR Code บันทึกข้อมูลและติดตามซ่อมบำรุง

6 กรกฎาคม 2566 สำนักงานเขตราชเทวี โดย ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ร่วมกับ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่บริเวณชุมชนซอยเพชรบุรี 7 (ซอยสุเหร่า) และ ชุมชนแฟลตสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เพื่อสำรวจและตรวจสอบสภาพถังดับเพลิงแบบยกหิ้ว ซึ่งถังที่เสื่อมสภาพจะถูกจัดเก็บคืนและติดถังใหม่ทดแทน ส่วนถังที่ยังสามารถใช้งานได้จะมีการติดตั้ง QR Code บนตัวถังเพื่อบันทึกข้อมูลการตรวจให้ประชาชนสามารถสแกนเข้าดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ อาทิ ประเภทของถัง ตำแหน่งที่ติดตั้ง รวมถึงสามารถติดตามการซ่อมบำรุงได้อีกด้วย

เขตปทุมวัน คุมเข้มตรวจคุณภาพถังดับเพลิงในชุมชนทุกแห่งเน้นย้ำความปลอดภัย พร้อมใช้งาน

28 มิถุนายน 2566 นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ และฝ่ายเทศกิจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยบ่อนไก่ ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพความพร้อมของถังดับเพลิงและอุปกรณ์ต่างๆในชุมชนพื้นที่เขตปทุมวัน ทั้ง 17 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ชุมชนเคหะชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนซอยโปโล ชุมชนซอยร่วมฤดี ชุมชนซอยพระเจน ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ชุมชนแฟลตสน. ปทุมวัน ชุมชนวัดชัยมงคล ชุมชนบ้านครัวใต้ ชุมชนวัดบรมนิวาส ชุมชนริมคลองนางหงส์ ชุมชนชาวชูชีพ ชุมชนวัดสามง่าม ชุมชนจรัสเมือง ชุมชนแฟลตการรถไฟ ชุมชนวัดดวงแข และชุมชนตรอกสลักหิน

เขตสัมพันธวงศ์ จัดการเก็บถังดับเพลิงที่ไม่สามารถใช้งานได้ เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี

28 มิถุนายน 2566 นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ นางสาวเมตตา ตันเสรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตฯ มอบหมาย ฝ่ายปกครอง,ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ และฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสวนมะลิ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบถังดับเพลิง (ถังแดง) ในพื้นที่ 16 ชุมชนของเขตสัมพันธวงส์ โรงเรียนในสังกัดเขตฯ และศูนย์บริการสาธารณะสุข 13 พร้อมนำถังที่มีสภาพชำรุด เสื่อมโทรม ไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งหมดจำนวน 388 ถัง รวบรวมแล้วนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยอันตรายหนองแขม  เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

บางคอแหลม #เช็คความปลอดภัยถังดับเพลิงชุมชน

 28 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงยานนาวา ลงพื้นที่สำรวจถังดับเพลิง และตรวจสอบสภาพการใช้งานในชุมชนมิตรสัมพันธ์ ชุมชนซอยโรงเจ ชุมชนวัดไผ่เงินและชุมชนสวนหลวง1 ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชน และให้ประชาชนได้คลายความกังวล ตลอดจนประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับถังดับเพลิงประเภทต่างๆ และวิธีการตรวจสอบ ดูแล รักษาถังดับเพลิง เบื้องต้น

เขตบางซื่อ มั่นใจ ติด QR Code ถังดับเพลิงในพื้นที่ รับรองผ่านการตรวจสอบเน้นย้ำความปลอดภัย สามารถใช้งานได้จริง

8 กรกฎาคม 2566 นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้ง QR Code บนถังดับเพลิงในชุมชนพื้นที่เขตบางซื่อ
ซึ่งเมื่อสแกน QR Code จะปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับถังดับเพลิง อาทิเช่น รหัสถังดับเพลิง สถานที่ติดตั้ง ประเภทถังดับเพลิง ขนาดบรรจุถังดับเพลิง สภาพอุปกรณ์  (สลักล็อค, คันบังคับ, เกจความดัน, สายฉีด และผู้บันทึกข้อมูลการตรวจสอบความปลอดภัย เป็นต้น 

โดย เจ้าหน้าที่จากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางโพ และ สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางซ่อน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยถังดับเพลิงในเบื้องต้น (visual inspection) และสำนักงานเขตบางซื่อ ดำเนินการจัดเก็บถังดับเพลิงที่ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ซึ่งมีนโยบายเร่งด่วนให้สถานีดับเพลิงทุกสถานี และสำนักงานเขต ร่วมกับประธานชุมชนลงตรวจถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้งทั่วพื้นที่ ที่สนับสนุนโดยกรุงเทพมหานคร เพื่อรักษามาตรการความปลอดภัยและแนวทางการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพถังดับเพลิง และอุปกรณ์ประกอบ ช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานถังดับเพลิงมากยิ่งขึ้น 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด