11 สิงหาคม 2566 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวัดลาดปลาดุก จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงนโยบายการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้ารับบริการ โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางระวีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญรองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี คณะผู้บริหาร ประชาชนและภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกว่า 350 คน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ประมาณ 2.2 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ประมาณ 3 - 8 แสนคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีเป้าหมายกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้สำเร็จ ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จากการที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและสะดวกในการรับบริการใกล้บ้าน ซึ่งเมื่อตรวจคัดกรองเร็ว รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว ก็จะเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ช่วยลดการป่วย การเสียชีวิต ลดการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ โดยได้ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นเครือข่ายให้บริการ และขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองในสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยหากพบว่า ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี แล้ว จะสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูง รักษาหายขาดได้ ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบ บี แม้ยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่หากอยู่ในระบบการรักษา จะได้รับยาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการป่วยรุนแรงได้
ด้าน นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ประชาชนสามารถรับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลักดันให้มีการบรรจุการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประชาชนทุกคนที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 สามารถรับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ด้วย HBsAg และตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี ด้วย Anti-HCV จำนวน 1 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ส่วนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย บุคลากรสาธารณสุข และผู้ต้องขัง จะได้รับสิทธิตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี ซ้ำทุก 1 ปี โดยหน่วยบริการจะได้รับค่าใช้จ่ายเมื่อให้บริการคัดกรองแก่กลุ่มเป้าหมาย มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป