ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กทม.เร่งหารือภาคีเครือข่าย แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ผลจากเหตุการณ์พารากอน

กทม.เร่งหารือภาคีเครือข่าย แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ผลจากเหตุการณ์พารากอน HealthServ.net
กทม.เร่งหารือภาคีเครือข่าย แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ผลจากเหตุการณ์พารากอน ThumbMobile HealthServ.net

ผู้ว่ากทม.เตรียมหารือภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนภัยผ่านมือถือ พร้อมเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตให้ประชาชน จากกรณีเกิดเหตุที่พารากอน พุ่งประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การเผชิญเหตุ 2) ระบบการเตือนภัย และ 3) การดูแลปัญหาสุขภาพจิตในประชาชน

 
5 ต.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ครั้งที่ 10/2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ถึงกรณีเกิดเหตุที่พารากอนว่า มีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) การเผชิญเหตุ  2) ระบบการเตือนภัย และ 3) การดูแลปัญหาสุขภาพจิตในประชาชน

 

การเผชิญเหตุ และระบบเตือนภัย


เรื่องแรกการเผชิญเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุให้ผู้อำนวยการเขตในพื้นที่เกิดเหตุเป็นอำนวยการเหตุ ถึงแม้จะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตต้องรู้เรื่องและรายงานให้ผู้บริหารรับทราบ


เรื่องที่สอง ระบบการเตือนภัย สิ่งที่จะทำเบื้องต้น คือ


1. LINE ALERT ได้ให้ที่ปรึกษาฯ ไปดูว่าจะเพิ่มฟีเจอร์อะไรได้บ้าง ปัจจุบันมีเพียงการเตือนเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งทำได้ค่อนข้างดี อาจจะเพิ่มเรื่องน้ำท่วมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้หรือไม่

2. Traffy Fondue จะให้มีการพัฒนาแอพภายใน 7 วัน ให้สามารถแจ้งไปยังผู้ที่สนใจรับแจ้งเหตุได้

3. การตั้งระบบเตือน มี 2 ส่วน คือ ส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งการแจ้งเหตุมีเรื่องละเอียดอ่อนทั้งเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งมีผลต่อการควบคุมเหตุ ต้องมีการหารือให้ดี

 
          รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยว่า เบื้องต้นทราบว่าทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีงบประมาณในการจัดทำเรื่อง เซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) (ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติ) ซึ่งจุดประสงค์หลักน่าจะเป็นเรื่องของสาธารณภัยที่เป็นเชิงธรรมชาติ คือภัยพิบัติ หากเป็นเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ต้องประสานให้หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ หน่วยงานที่ดูแลหรือเจ้าของพื้นที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในโปรโตคอลนี้ด้วย ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนทาง กสทช. ได้มีการคุยกันก่อนหน้าตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและทางภาคเหนือของไทยว่า อยากดึงข้อมูลบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แจ้งในกลุ่มเครือข่าย รวมถึง LINE ALERT และ LINE OA ของ กรุงเทพมหานครลิงก์แบบทูเวย์ได้ กรณีเกิดเหตุต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็แจ้งไป หากเกิดเหตุนอกพื้นที่ก็ดึงข้อมูลแจ้งกลับมาในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการหารือภายในสัปดาห์หน้าและคาดว่าจะทราบรายละเพิ่มเติมต่อไป
 
 
 
 
 
กทม.เร่งหารือภาคีเครือข่าย แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ผลจากเหตุการณ์พารากอน HealthServ

การดูแลปัญหาสุขภาพจิตในประชาชน


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่สามคือ การดูแลต้นเหตุของปัญหา ปัจจุบันมีประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตค่อนข้างมาก กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะต้องปรับ 2 ส่วน คือ การให้บริการด้านสุขภาพจิตซึ่งกรุงเทพมหานครกำลังด้านนี้ค่อนข้างจำกัดและน้อย ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่ค่อยอยากเข้ามาอยู่โรงพยาบาล การให้คำแนะนำและความรู้ต่าง ๆ ต้องกระจายไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขมากขึ้น และในส่วนของโรงเรียนด้วย


 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้มีการใช้แอปพลิเคชัน BuddyThai ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่า เมื่อเป็นสิ่งที่ส่งจากครู ความเชื่อมั่นเชื่อใจจากครูจะน้อย ส่วนใหญ่เด็กจะเชื่อเพื่อนมากกว่า จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในการดูแลเรื่องนี้ ซึ่งในวันที่ 8 ต.ค. นี้ จะมี Forum ใหญ่เรื่องสุขภาพจิต มีเครือข่ายหลายภาคส่วนที่ร่วมงาน คงจะมีการหารือแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแซนด์บอ็อก 58 โรงเรียน ได้มีการปรับรูปแบบการประเมินการเรียนไม่ให้รู้สึกว่าเป็นการแข่งขัน โดยดูจากทักษะความสามารถของเด็กเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีชัยชนะเป็นของตัวเองไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร
 
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวตอนท้ายว่า เราต้องเข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ก่อนจึงจะแก้ปัญหาได้ถูก การเอาประชาสังคมมาร่วม ใช้สิ่งที่คุ้นเคย หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งในการลดความเครียด ต้องเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องแจ้งเหตุเวลาเกิดเหตุแล้ว ก็จะต้องร่วมมือแก้ปัญหานี้และทำเป็นแผนระยะยาวต่อไป
 
ทั้งนี้สังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง อีกทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ สภาพเศรษฐกิจ และเรื่องต่าง ๆ การหาคำแนะนำที่ถูกต้องปัจจุบันไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ จิตแพทย์ของกรุงเทพมหานครสังกัดสำนักการแพทย์มีอยู่ 23 คน สำนักอนามัย 1 คน แผนระยะยาวอาจต้องปรับให้มีความเหมาะสม รวมถึงนักจิตวิทยาหรือคนที่เข้าใจเรื่องนี้ให้คำแนะนำในโรงเรียนและกลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ
 
 
 
 
กทม.เร่งหารือภาคีเครือข่าย แก้ 3 ปัญหาสำคัญ ผลจากเหตุการณ์พารากอน HealthServ

เสนอจัดทำระบบแจ้งเตือน EAS แจ้งเหตุฉุกเฉินประชาชน

 
4 ต.ค.66 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งมีนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม : นายวิพุธ ศรีวะอุไร สก.เขตบางรัก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉิน Emergency Alert System หรือ EAS
 
 
สก.วิพุธ กล่าวว่า สิ่งที่จะเพิ่มโอกาสการเอาชีวิตรอดคือการสื่อสารข้อมูลให้กับประชาชนอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ที่ผ่านมาพบว่าระบบแจ้งเตือนภัยที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เป็นการแชร์ข้อมูลผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ของรัฐทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูล และเกิดปัญหาตามมา อาทิ กรณีเหตุไฟไหม้ที่เซ็นทรัลเวิล์ด ประชาชนไม่รับทราบเหตุและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น
 
สำหรับผลเสียจากการแจ้งเตือนภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1.ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่ทราบข้อมูลและยังใช้ชีวิตตามปกติและไม่หลีกเลี่ยงพื้นที่เกิดเหตุ
2.ทำให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการเข้าถึงพื้นที่ล่าช้า (Response Time)
3.อัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น
4.สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อนักท่องเที่ยวและนักลงทุน
 
“ในประเทศเกาหลีใต้มีการแจ้งเตือนในหลายด้านซึ่งมีประสิทธิภาพมาก และเป็นข้อมูลที่ส่งจากรัฐบาล ผ่านการพิจารณาจากท้องถิ่นและหน่วยงานที่ดูแลภัยพิบัติส่วนกลาง มีความถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงและมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ในส่วนของกทม.ข้อมูลคร่าว ๆ ที่ส่งอาจเป็นสถานการณ์ ตำแหน่ง สถานที่ ข้อแนะนำ และเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ควรเป็นแจ้งแบบ Realtime โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นในการเผยแพร่ให้ครอบคลุม เช่น จอLED ห้างสรรพสินค้า รถโดยสาร รถไฟฟ้า เป็นเรื่องที่กทม.ทำได้เลย และไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก” สก.วิพุธ กล่าว
 
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมอภิปรายและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สก.เขตทุ่งครุ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สก.เขตคลองสาน นายเอกกวิน โชคประสพรวย สก.เขตราชเทวี
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่แผ่นดินไหว และในส่วนของกทม.ก็มีการแจ้งเตือนในเรื่องฝุ่นPM2.5 ผ่านระบบ Line Alert แล้ว ต่อไปจะหารือกับบริษัทLine เพื่อขยายการให้บริการให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการปรับปรุงTraffy Fondueให้มี Feature เป็นลักษณะการสื่อสารมากขึ้น
 
จากนั้น รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลการดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับระบบแจ้งเตือนภัยที่พัฒนาอยู่ในปัจจุบัน และที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบและจะส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด