ประธานพิพิธภัณฑ์ ฌอน เอ็ม. เดคาเทอร์ ระบุในหนังสือที่ส่งถึงสำนักข่าวถึง หลักสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ความยินยอมของบุคคล โดยระบุว่า ไม่มีบุคคลใดที่ยินยอมให้นำศพของเขาไปจัดแสดงให้คนอื่นชมในพิพิธภัณฑ์ เว้นเสียแต่บางบุคคลที่ยินยอมมอบร่างกายให้กับโรงเรียนแพทย์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สอดคล้องกับนโยบายของพิพิธภัณฑ์ที่เคยกำหนดไว้เมื่อไม่นานนี้ ว่า จะไม่รับสิ่งใดๆ ทั้งที่เป็นชิ้นเดียวหรือเป็นชุดๆ ก็ตามที่เก็บหรือรวบรวมมา ภายใต้สภาวะการณ์ที่สนับสนุนหรือกระตุ้นให้เกิดการละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อ แหล่งโบราณคดี อนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรม หรือสถานที่พิธีกรรมการฝังศพมนุษย์
โครงกระดูกและซากมัมมี่ จะถูกนำออกจากการจัดแสดง รวมถึงเครื่องดนตรี เครื่องประดับ ที่ทำขึ้นหรือประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ มีโครงกระดูกมนุษย์อยู่นับพันชิ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 26 เป็นโครงกระดูกคนพื้นถิ่นอเมริกันในสหรัฐอเมริกา ที่เหลือมาจากประเทศอื่นๆ มีร่างของคนผิวดำที่ถูกขายเป็นทาสจำนวน 5 ร่าง ที่ขุดพบระหว่างการก่อสร้างตั้งแต่ยุค 1900
สิ่งจัดแสดงที่เกี่ยวกับซากมนุษย์ที่ยังคงมีจัดแสดงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนน้อยแล้ว และมีแผนจะนำออกไปเร็วๆ นี้ ได้แก่ แบบจำลองหลุมฝังศพนักรบจากมองโกเลียที่มีอายุราว ค.ศ.1000 ผ้ากันเปื้อนจากทิเบตที่ทำจากกระดูกมนุษย์ รวมถึงเครื่องดนตรีบางชนิดของวัฒนธรรมแอซเทคที่ทำจากกระดูกคน
"ไม่มีสิ่งจัดแสดงชิ้นไหน จะสำคัญไปกว่าเป้าหมายและเนื้อหาการจัดแสดง ที่พยายามจะถ่วงดุลข้อขัดแย้งทางจริยธรรม บนข้อเท็จจริงที่ว่า การนำเอาซากศพมาใช้จัดแสดงร่วมกับสิ่งของต่างๆ บนระนาบเวลาเพื่อสะท้อนภาพของยุคอดีตนั้น ในบางกรณีหรือบางด้าน มันกลับแสดงถึงการตกเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมจากความรุนแรง หรือการที่พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกกระทำและถูกแสวงประโยชน์ ซึ่งการนำเอาสิ่งนั้นหรือเรื่องราวนั้นมาจัดแสดงต่อสาธารณะ เท่ากับเป็นการขอบเขตการละเมิดหรือการแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวต่อๆไปอีก"
เสมือนว่าการกดขี่ ละเมิดและถูกกระทำ ยังคงอยู่และส่งต่อสู่สาธารณะอยู่ต่อไป แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม
พิพิธภัณฑ์ได้ตระหนักถึงผลเกี่ยวเนื่องด้านลบเหล่านั้น จึงอยากยุติมันนั่นเอง
นายดีเคเตอร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้เป็นความพยายามที่จะจัดการกับ "มรดกอันซับซ้อนของชิ้นส่วนของมนุษย์" และความสำคัญลำดับต้นๆ ต่อจากนี้ไปคือการจัดเก็บอย่างเหมาะสมจนกว่ามีการนำส่งคืนกลับไปยังประเทศต้นทางต่อไป
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์มีแผนจะทบทวนและจัดการสิ่งจัดแสดงทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกับมนุษย์ที่เคยมีชีวิตด้วย
ในจดหมายดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ยอมรับว่านักวิจัยในศตวรรษที่ 19 และ 20 ได้ใช้ซากศพมนุษย์เพื่อพัฒนา "วาระทางวิทยาศาสตร์ที่มีข้อบกพร่องบนรากฐานความคิดอำนาจนิยมสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacy) กล่าวคือ การระบุความแตกต่างทางกายภาพที่อาจเสริมแบบจำลองของลำดับชั้นทางเชื้อชาติ"
และ การจัดแสดงซากศพมนุษย์เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลเชิงอำนาจแบบสุดโต่ง