ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ดูแลสุขภาพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 3,861 ราย นอน รพ. 4 ราย

สธ.ดูแลสุขภาพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 3,861 ราย นอน รพ. 4 ราย Thumb HealthServ.net
สธ.ดูแลสุขภาพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 3,861 ราย นอน รพ. 4 ราย ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการดูแลสุขภาพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 24 ชุด รวม 3,861 ราย มีผู้ป่วยส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล 7 ราย ยังเหลือนอนรักษา 4 ราย เป็นอาการทางกาย 3 ราย คือ กระดูกสะโพกหัก, มีผื่นเรื้อรังและแผลจากสะเก็ดระเบิด และผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 1 ราย

 
        24 ตุลาคม 2566 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแลสุขภาพแรงงานไทยที่อพยพจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ว่า ข้อมูลเมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ ภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลสุขภาพกายและจิตใจของแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจำนวน 24 ชุด รวม 3,861 ราย เป็นชาย 3,796 ราย และหญิง 65 ราย ในจำนวนนี้ ต้องส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 7 ราย


       โดยปัจจุบัน ยังมีผู้ป่วยนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 4 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยทางกาย 3 ราย ได้แก่

       1.ผู้ป่วยที่ตกจากที่สูง กระดูกขาหัก ส่งต่อโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 แพทย์ทำการผ่าตัดให้วันนี้ อาการทั่วไปดี มีญาติมาเยี่ยมให้กำลังใจทุกวัน

       2.ผู้ป่วยเป็นผื่นเรื้อรัง ส่งรักษาต่อที่สถาบันราชประชาสมาสัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 อยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุ และ

       3.ผู้ป่วยมีบาดแผลจากสะเก็ดระเบิด 1 ราย วันนี้ส่งรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

 
 
       นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ส่วนผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 1 ราย ได้รับการส่งตัวไปสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 อยู่ระหว่างการดูแลของทีมแพทย์และสหวิชาชีพ สำหรับวันนี้ได้รับรายงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ว่า มีเที่ยวบินเดินทางกลับมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 เที่ยวบิน จำนวน 130  คน เป็นชาย 129 คน และหญิง 1 คน ผลการคัดกรองไม่พบมีอาการเจ็บป่วยทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
สธ.ดูแลสุขภาพแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล 3,861 ราย นอน รพ. 4 ราย HealthServ

ผู้ป่วยผ่าตัดที่เลิดสินปลอดภัยแล้ว

 

               แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว มีความห่วงใยและสั่งการให้มีการดูแล ติดตามแรงงานไทยที่ประสบกับภาวะอันตรายในอิสราเอล หนึ่งในจำนวนนั้นมีการบาดเจ็บกระดูกสะโพกหักเนื่องจากตกจากที่สูงระหว่างการทำงานมารักษาและผ่าตัด


            ผู้ป่วยรายนี้ กลับถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ได้รับการส่งตัวมารักษายัง สถาบันออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญขั้นสูงในด้านโรคกระดูกและข้อ 


              รายงานผลการผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย ผู้ป่วยจะอยู่ในการดูแลและประเมินผลการรักษาอย่างดีต่อเนื่องต่อไปจนกระทั่งส่งตัวกลับไปดูแลต่อที่บ้าน สำหรับสภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้นทางโรงพยาบาลได้มีการส่งจิตแพทย์ดูแลรักษาเป็นระยะพบว่าผู้ป่วยมีสภาพจิตใจดีขึ้นตามลำดับ 


             ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้ทุกหน่วยงานดูแลและรักษาสุขภาพคนไทย หากมีปัญหาทางด้านร่างกาย ส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมตามความเชี่ยวชาญ  และหากผู้ที่เดินทางกลับมามีปัญหาสุขภาพจิต จะมีกรมสุขภาพจิตดูแล เพื่อให้ทุกคนกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด






 
               นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลเลิดสินมีการเตรียมพร้อมของคณะศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ในการดูแลรักษาแรงงานไทยอย่างทันท่วงที ลดการเกิดภาวะทุพพลภาพในอนาคต โดยการการจัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยาต่างๆ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อตามมาตรฐาน


 
 
               สำหรับการรักษา “กระดูกสะโพกหัก” เป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษา โดยเร่งด่วน ส่วนมากเกิดกับผู้สูงอายุที่หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เนื่องจากกระดูกสะโพกตาย วิธีที่รักษากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด  หากทิ้งช่วงเวลาในการผ่าตัดนานอาจ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับผู้ป่วยสูง อาทิ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ  เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ นำไปสู่การเสียชีวิต การผ่าตัดดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด