7 พฤศจิกายน 2566 ที่ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี แพทย์หญิงนวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด โรงพยาบาลเอกชน และสภาวิชาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 500 คน ร่วมงาน
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า การยกระดับโยบายยกระดับ 30 บาท “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่”เป็นหนึ่งใน Quick Win ที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรการแพทย์ในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำร่องดำเนินการใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และ จังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังดำเนินการในอีก 4 เขตสุขภาพ คือ เขตสุขภาพที่ 1 ,4, 9 และ 12 ซึ่งจะเริ่มในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งก่อน และจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป
ด้านนายแพทย์โอภาสกล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการรองรับ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ 1.ระบบบันทึกข้อมูลสำหรับหน่วยบริการประเภทต่าง ๆ 2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน 3.ระบบให้บริการ และ 4.ระบบเชื่อมต่อกับประชาชนผ่าน LINE Official Account และ Application เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการและบุคลากรในการจัดเตรียมระบบ วางแผนบริหารจัดการ และทดสอบการให้บริการจริงแก่ประชาชน โดยกิจกรรมภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือและสมุดสุขภาพประชาชน(Health Wallet), Data Governance : PDPA & Cyber Security, การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล, Financial Data Hub และ MOPH Claim, แนวทางการดำเนินงานการใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยา/สั่งแล็บอิเล็กทรอนิกส์ และบริการรับ-ส่งยา ทางไปรษณีย์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการประชุมกลุ่มย่อยระดมสมองจัดทำแผนปฏิบัติการ และนำเสนอแผนฯ แก่ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิอีกด้วย