10 พฤศจิกายน 2566 นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาชี้แจงแนวทางดำเนินงานและการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล ณ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการดำเนินงานโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ จากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ในการพัฒนาหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเงื่อนไขมาตรฐาน การกำกับดูแลหน่วยบริการเจาะเลือด เก็บตัวอย่างและนำส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาล ให้มีการรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสนับสนุนโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เพิ่มศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ ในปัจจุบันผู้ป่วยและญาติต้องเสียเวลารอคอยการมารับบริการ ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยใช้เวลาในการรอคอยเพื่อใช้บริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และรอพบแพทย์ ประมาณ 2-5 ชั่วโมง ดังนั้นการจัดระบบเพื่อลดเวลารอคอยการให้บริการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ จึงมีความสำคัญ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนหน่วยบริการเจาะเลือด เก็บตัวอย่างและนำส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาล รวมทั้งทำหน้าที่กำหนดและพัฒนามาตรฐาน กำกับดูแลหน่วยบริการเจาะเลือด ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการ โดยโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งปัจจุบันมี 34จังหวัด เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าร่วมโครงการ 47 แห่ง และมีหน่วยบริการผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการเจาะเลือด เก็บตัวอย่าง และนำส่งตัวอย่างนอกโรงพยาบาล จำนวน 414 แห่ง ข้อมูลวันที่ 26 ตุลาคม 2566 อย่างไรก็ตามมีอีก43 จังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าร่วมโครงการ
ในการสัมมนาฯ ครั้งนี้เป็นการสื่อสารขั้นตอนการดำเนินงานการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล มาตรฐานหน่วยบริการเจาะเลือด รวมถึงการเบิกจ่ายผ่านระบบ E-Claim ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ และบุคลากรสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ มากกว่า 700 คน ซึ่งการมุ่งมั่นพัฒนาหน่วยบริการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาล สามารถแก้ปัญหาการแออัดในการรอคอยคิวเจาะเลือด และรอคอยผลทางห้องปฏิบัติการ ทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้รับประโยชน์ในการรับบริการที่สะดวก ใกล้บ้าน และรวดเร็วยิ่งขึ้น