15 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายปีงบประมาณ 2567 ว่า ประเด็นเรื่องนักท่องเที่ยวปลอดภัย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็นหนึ่งใน Quick Win 100 วัน โดยจะทำให้พื้นที่ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยทั้งจากอุบัติเหตุและโรคต่างๆ และได้จัดตั้ง "Safety Phuket Island Sandbox เป็นจังหวัดนำร่อง มีการดำเนินการ 7 เรื่อง คือ 1.ประกาศเป้าหมาย จ.ภูเก็ต ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 2.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ให้บริการท่องเที่ยว 3.จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ (Sky Doctor) 4.พัฒนาอาสาฉุกเฉินทางทะเล/อาสาฉุกเฉินชุมชน 5.มีถนนอาหารปลอดภัย (Street Food Good Health) 6.การคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ และ 7.Digital Disease Surveillance
"ท่านนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดกิจกรรม Safety Phuket Island Sandbox ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ที่บริเวณหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยจะมีการซ้อมแผนการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ Sky Doctor อาสาฉุกเฉินทางทะเล มอบประกาศนียบัตรแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านเกณฑ์ประเมินพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มอบป้าย Street Food Good Health และป้ายเมนูชูสุขภาพให้แก่ผู้ประกอบการอาหารถนนคนเดินหลาดใหญ่" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ส่วนความก้าวหน้าเรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล นอกจากการยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมการแพทย์ทหารอากาศ เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมืองขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง โดยมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ ยังดำเนินการเพิ่มที่เขตมีนบุรี โดยจะพัฒนาโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า สังกัดกรมการแพทย์ พื้นที่ 20 ไร่ 3 อาคารบริการ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ฝากครรภ์ ศูนย์ฟอกไต 10 เตียง และ Home Health Care ให้เป็นโรงพยาบาลเขตมีนบุรีขนาด 60 เตียง ตั้งเป้าเดือนธันวาคมนี้ จะเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง (จักษุ หู คอ จมูก) อายุรกรรมโรคไต ศัลยกรรมทั่วไป โรคกระดูก และกุมาร เปิดบริการฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ให้บริการกายภาพบำบัด ทันตกรรม 1 ยูนิต และผ่าตัดเล็ก 1 ห้อง ส่วนเดือนมกราคม 2567 จะเปิดหอผู้ป่วยใน 25 เตียง พร้อมห้องผ่าตัดใหญ่ 1 เตียง ช่วงพฤษภาคม 2567 เพิ่มบริการห้องคลอด และภายใน 1 ปีจะเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อระดับทุติยภูมิ ขยายหอผู้ป่วยในเป็น 60 เตียง โดยมีโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เขตคันนายาว ที่อยู่ห่าง 15 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย