จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงานของรัฐ ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรืออันตราย พบว่า หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 เป็นต้นมา มีผู้ใช้กัญชาจำนวนมากเจ็บป่วยฉุกเฉิน/ประสาทหลอน ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ไปเพิ่มภาระงานที่ห้องฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น และกัญชามีผลกระทบด้านลบต่อการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการของเด็กในระยะยาวด้วย อีกทั้งกัญชาไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ใช้เพียงบรรเทาอาการชั่วคราวของโรคตามข้อบ่งใช้เท่านั้น
แพทยสภาจึงมีคำแนะนำการใช้และไม่ใช้กัญชาให้ประชาชนดังนี้
- ใช้ เฉพาะสารสกัดกัญชาที่ทราบปริมาณแน่นอน ของสาร CBD และ THC ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้ จากแพทย์ที่ผ่านการอบรม
- ไม่ใช้ กัญชาในลำดับแรกในการรักษาโรค จะใช้เมื่อใช้ยามาตรฐานขนานอื่น แล้วไม่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการ/ภาวะของโรคได้
- ไม่ใช้ กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี เพราะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง
- ไม่ ผสมกัญชา/กัญชงลงในอาหารหรือขนม สำหรับให้ประชาชนรับประทาน
- ไม่ใช้ กัญชา/กัญชงเพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด
- ไม่ใช้ ช่อดอกของกัญชา เพราะมีสารเสพติด ซึ่งจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้มาก
- ไม่ใช้ กัญชา/กัญชงโดยเด็ดขาดในประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้มีโรคตามข้อบ่งใช้
แพทยสภาและสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในอาคารมหิตลาธิเบศร เห็นชอบร่วมกันในการประกาศให้อาคารนี้ เป็นพื้นที่ปราศจากกัญชา/กัญชง บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดทั้งมวล เพื่อให้ความปลอดภัยและการมีสุขภาพดีของทุกท่าน
ท่านสามารถหารายละเอียดของข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ และคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชงของราชวิทยาลัย/วิทยาลัย สมาคมและองค์กร ที่แพทยสภาให้การรับรองความถูกต้องของข้อมูลได้ที่
tmc.or.th/cannabis.php
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ โดย แพทยสภา
ที่มา: แพทยสภา
ที่มา: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2/2562