30 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ร่วมเปิดโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ ตามนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในเขตเมือง ด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล ปริมณฑลและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีเพียงโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ให้บริการดูแลประชาชน ทำให้เกิดความแออัด และรอคอยการรักษานาน ประชาชนบางส่วนต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน หรือเดินทางไปรับบริการข้ามอำเภอ
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนปรุง และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ กรมการแพทย์ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์” เปิดบริการในพื้นที่อาคาร 8 ชั้นโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในรูปแบบผู้ป่วยนอกทั่วไปและเฉพาะทาง (Extended OPD) ครอบคลุมบริการ 5 สาขาหลัก ได้แก่ ศัลยกรรม, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, อายุรกรรม, กุมารเวชกรรม และสูติ-นรีเวชกรรม
“การจัดตั้งโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญและต้องการให้ประชาชนในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เข้าถึงบริการมากขึ้น เป็นโรงพยาบาลของประชาชนชาวอำเภอเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งระยะถัดไปจะมีการเพิ่มศักยภาพในการจัดบริการให้ครอบคลุมทุกด้าน และจะขยายเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 120 เตียงต่อไป” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดให้บริการ โรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ มีผู้มารับบริการทั้งสิ้น 1,274 ราย ได้แก่ อายุรกรรม 1,030 ราย, กระดูกและข้อ 43 ราย, กุมารเวชกรรม 19 ราย, ศัลยกรรม 12 ราย, สูติ-นรีเวชกรรม 15 ราย นอกจากนี้ยังเริ่มเปิดให้บริการผู้ป่วยในสาขาอายุรกรรมและศัลยกรรม รวม 3 ราย และให้บริการผ่าตัด 5 ราย