ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำ วัคซีนป้องกันโปลิโอ จำเป็น

แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำ วัคซีนป้องกันโปลิโอ จำเป็น HealthServ.net
แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำ วัคซีนป้องกันโปลิโอ จำเป็น ThumbMobile HealthServ.net

แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ไม่มียารักษา เสี่ยงอัมพาตแขนขาลีบตลอดชีวิต ย้ำผู้ปกครองควรพาบุตรหลานเข้ารับ วัคซีนป้องกันโปลิโอ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

 
 
 
ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโรคโปลิโอเริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ จากอดีตที่เคยกวาดล้างได้สำเร็จกว่า 99% มาแล้ว ล่าสุดข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2564 - 2565 มีรายงานว่าพบการระบาดของไวรัสโปลิโอสายพันธุ์ WPV1 ในทวีปแอฟริกา อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ขณะที่ปี 2565 มีรายงานพบการแพร่ระบาดของไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ชนิดที่ 2 (cVDPV2) ในประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และอิสราเอล ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง และเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขาซึ่งพบในหลายประเทศหลังจากที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอมาเป็นระยะเวลานานหลายปี จึงเป็นเหตุให้หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดของโรคนี้มายังประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย
 
 
แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำ วัคซีนป้องกันโปลิโอ จำเป็น HealthServ
 

 
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และกรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลในงานวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566 (หรือ World Immunization Day 2023) ว่า ‘โรคโปลิโอ’ หรือที่เรียกว่า ‘โรคอัมพาตแขนขาลีบ’ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) เข้าไปทำลายระบบประสาทส่งผลให้เกิดภาวะอัมพาต พิการ หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการของผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอจะแตกต่างกันมาก ซึ่งกว่าร้อยละ 95 จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ร้อยละ 1-2 จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการคล้ายโรคหวัด ขณะที่ร้อยละ 1-2 จะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ คอแข็ง อ่อนเพลีย มึนงง แต่ยังสามารถหายเป็นปกติได้ (โชคดี) ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มสุดท้ายจะมีความรุนแรงมากที่สุด พบได้น้อยประมาณ 1 ใน 500 – 1,000 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอ โดยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตเฉียบพลัน และถาวร ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ (โชคร้าย)
 
 
 
โรคโปลิโอ มักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายหากผู้ที่ได้รับเชื้อยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยติดต่อได้จากการกลืนกินหรือสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อจะออกมากับสารคัดหลั่งบริเวณลำคอในขณะที่ผู้ป่วยไอหรือจาม หรือออกมากับอุจจาระแล้วเข้าสู่ร่างกายผู้อื่นทางปาก แล้วแพร่สู่ผู้อื่นผ่านการกลืนเชื้อที่ติดอยู่ที่คอจากลมหายใจหรือจากการกลืนเข้าไปพร้อมกับน้ำ หรืออาหารที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอปนเปื้อนอยู่
 
 
หลังจากที่เชื้อไวรัสโปลิโอเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในบริเวณคอหอยและลำไส้ และอีก 2-3 วัน เชื้อก็จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่ทอนซิลและที่ลำไส้ และเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ซึ่งส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะผ่านจากกระแสเลือดเข้าสู่ไขสันหลังและสมองโดยตรง หรือบางส่วนอาจผ่านไปไขสันหลังโดยทางเส้นประสาท และหากเชื้อไวรัสเข้าไปยังไขสันหลังแล้ว เชื้อก็จะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในที่ทำงานได้เองโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อของลำไส้) และกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อแขน ขา) ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดอาการอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตในที่สุด
 
 
 
 
แพทย์เตือน โรคโปลิโอ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำ วัคซีนป้องกันโปลิโอ จำเป็น HealthServ
 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเน้นย้ำว่า โรคโปลิโอ เป็นโรคที่ไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรได้รับ ซึ่งผู้ปกครองควรใส่ใจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนโปลิโอตามโปรแกรมที่กำหนด โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ มี 2 ชนิด คือ ชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine: OPV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น และชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine: IPV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายและชี้แจงโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอตามพันธสัญญานานาชาติ ด้วยการนำร่องให้วัคซีนโปลิโอ สูตร 2 IPV + 3 OPV ให้กับ สสจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายและชี้แจงโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอตามพันธสัญญานานาชาติ ด้วยการนำร่องให้วัคซีนโปลิโอ สูตร 2 IPV + 3 OPV ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
 
1. แนะนำให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 เข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
 
2. ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน หรือชนิดหยอด (OPV) จำนวน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปี





 

 
เนื่องด้วย วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้ง 2 ชนิด สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโปลิโอสูง โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ประกอบด้วยสายพันธุ์ 1 และ 3 เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุลำคอและลำไส้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นาน ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด เป็นวัคซีนเชื้อตาย ไม่สามารถสร้างภูมิได้ทันทีหลังฉีด แต่สามารถครอบคลุมครบทุกสายพันธุ์ 1, 2, 3 โดยเฉพาะสายพันธุ์ CvdPV2 ซึ่งยังปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง วัคซีนชนิดฉีดยังไม่ก่อให้เกิด VAPP (Vaccine – associated paralytic polio) หรือภาวะอ่อนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอจากวัคซีนชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว  โดยมีอัตราการเกิด 1 ต่อ 900,000 ราย ที่ได้รับวัคซีน OPV ครั้งแรก และลดลงถึง 25 เท่า ในการได้รับวัคซีน OPV ครั้งต่อไป ซึ่งภาวะอ่อนแรงดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า อาจจะมีการยกเลิกการใช้วัคซีนปัองกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน แต่อาจนำชนิดกินมาใช้ฉีดปูพรมในกรณีที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโปลิโอ
 
 
 
ถึงแม้ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอเป็นเวลานาน แต่เชื้อโปลิโอสายพันธุ์ cVDPV2 ยังคงปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ดังนั้นจึงควรมีความระมัดระวังไม่ให้สัมผัสเชื้อโปลิโอ โดยการรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยแนะนำให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอตามตารางการให้วัคซีนโปรแกรมที่กำหนดไว้ตามสูตร 2 IPV + 3 OPV ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดฉีด หรือยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ cVDPV2 เพราะหากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว อาจทำให้โรคหวนกลับมาระบาดได้อีกครั้ง
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด