ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย

DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย HealthServ.net
DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย ThumbMobile HealthServ.net

ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวช 2.4 ล้านคน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นำเอา DMIND ระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์คัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผ่านแบบทดสอบสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี ประเมินภาวะซึมเศร้าเป็นคะแนน 4 ระดับ ช่วยผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันสถานการณ์ และช่วยลดภาระงานของแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  

ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น



         กระทรวงสาธารณสุข รายงานปัญหาสุขภาพจิต ว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวช 2.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2558 ที่มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพียง 1.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 84 ในเวลา 8 ปี 


      โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ สูงขึ้นทุกรูปแบบ

        จากข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562-2566  มีตัวเลขที่น่าสนใจและน่าตกใจ หลายประการ ดังนี้

         1)  แนวโน้มการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากรแสนคน  โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-59 ปี มีจำนวนคนที่พยายามฆ่าตัวตายมากสุด  แต่กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด คือ 10.39 ต่อประชากรแสนคน

         2) ปี 2566 จำนวนคนพยายามฆ่าตัวตาย 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่น/นักศึกษา อายุ 15-19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 116.81 ต่อประชากรแสนคน 

          สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) ที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 ต่อประชากรแสนคน  

          ขณะที่ ประเทศไทย มีจำนวนบุคลากรด้านจิตเวช ต่อจำนวนประชากร  ที่อัตราส่วน 9 : 100,000 คน

DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย HealthServ

DMIND ไลน์หมอพร้อม

 
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงแนวทางการรับมือปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ว่า  สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้ที่เริ่มมีป้ญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะการประเมินและให้คำปรึกษาต่อภาวะซึมเศร้า  ดังนั้น กรมสุขภาพจิตได้นำเอา DMIND  มีความแม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก มาใช้เพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และช่วยลดภาระงานของแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 
 


        DMIND แอปพลิเคชั่นสำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า   เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Agnos Health ซึ่ง D ย่อมาจาก Depression หรือโรคซึมเศร้า  DMIND เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยจิตแพทย์ โดยไม่ได้มาทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ แต่นำมาช่วยคัดกรองว่าใครคือเคสเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คนที่มีอาการโรคซึมเศร้าเบาหน่อยค่อยมีการช่วยเหลือในลำดับต่อๆ ไป

 

         ปัจจุบันสามารถเข้าใช้  DMIND  ผ่านทางไลน์  "หมอพร้อม"  โดยเลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (Chatbot) และเลือกเมนูตรวจสุขภาพใจ เพื่อตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ พร้อมมีระบบ ตรวจจับการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และประเมินภาวะซึมเศร้าเป็นคะแนน 4 ระดับ คือ
  • สีน้ำเงิน ปกติ 
  • สีเขียว เสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงน้อย
  • สีเหลือง เสี่ยงปานกลาง หากพบกลุ่มนี้นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน
  • สีแดง เสี่ยงรุนแรง หากพบว่าเป็นกลุ่มนี้ กลุ่มนักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง





 
      "ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 - ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้บริการ DMIND ทำแบบประเมินสุขภาพจิต 180,993 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่ปกติ 18,906 ราย ผู้มีความเสี่ยงน้อย 113,400 ราย ผู้มีความเสี่ยงปานกลาง 33,039 ราย และผู้มีความเสี่ยงรุนแรง 15,648 ราย หรือคิดเป็น 8.1% ซึ่งมีการยินยอมให้ติดตาม 1,118 คน ติดตามสำเร็จ 778 คน โดยกระบวนการติดตามจะดูว่ามีกรณีเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่ หากเสี่ยงรุนแรงจะส่งต่อไปยัง Hope Task Force ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตายให้การดูแล


       ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง DMIND กับระบบหมอพร้อมทำให้การดำเนินงานสะดวกมากยิ่งขึ้น ในอนาคตจึงอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ให้มากขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว .
 
DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย HealthServ

พัฒนาด้วย AI

 


       นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีการพัฒนาและปรับปรุง DMIND ซึ่งมาจากการรับฟังจากความเห็นจากการใช้งานของประชาชน โดยมีแพทย์ AI ให้เลือกพูดคุยปรึกษามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแพทย์ AI ผู้หญิง จะเพิ่มทั้งแพทย์ AI ผู้ชาย และ มีอายุหลากหลายมากขึ้น มีการปรับการพูดคุยของผู้ใช้งานให้เป็นธรรมชาติและกระชับมากขึ้น


       รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาการทำงานของ DMIND เพิ่ม ได้แก่

      1. มีการวิเคราะห์ผู้ใช้งานตาม User Journey เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของผู้ใช้งาน และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินงาน

      2. ปลดล็อกในส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นวิกฤตตามกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการติดตามกลุ่มวิกฤตที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจากการประเมินของ DMIND ทำให้มีความสะดวกและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที
DMIND (หมอพร้อม) คัดกรองซึมเศร้า เครื่องมือช่วยรับมือปัญหาสุขภาพจิตในไทย HealthServ

แบบทดสอบสุขภาพใจกับคุณหมอพอดี ปัญญาประดิษฐ์ประเมินระดับความซึมเศร้า@DMIND

แบบทดสอบ โรคซึมเศร้าจาก DMIND ทำงานผ่าน "คุณหมอพอดี" ที่เป็นระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่ออกแบบมาเป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟัง ทุกความรู้สึกของคุณ และเช็กโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าคืออะไร ทำไมต้องเราต้องเช็กโรคซึมเศร้า? โรคซึมเศร้า คือ โรค อาการที่เกิดจากความรู้สึกผิดหวัง เสียใจอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนหรือเจอกับความเครียดความกดดันเป็นเวลานาน ทำให้ความผิดหวังเสียใจ หรือความต้องการโต้แย้งนั้นเป็นยาวนานกว่าอารมณ์ปกติ และส่งผลให้มีอาการทางร่างกาย

หมอพอดี ต่างจากแบบประเมินซึมเศร้าทั่วไปยังไง? มากกว่าแบบประเมินทั่วไปหมอพอดีสามารถวิเคราะห์น้ำเสียงและการแสดงสีหน้าของคุณได้ ในรูปแบบของ การพูดคุย ทำให้รู้สึกเหมือน ได้ระบายกับคนจริง ๆ
 
ปรึกษาหมอพอดีตอนไหนดี? สามารถปรึกษาได้ตลอด หากคุณรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกเศร้าคุยกับหมอพอดี เพื่อ ประเมินระดับความเสี่ยง โดยทำแบบทดสอบ โรคซึมเศร้า ก่อนปรึกษานักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ ก็ได้เหมือนกัน
 
จะคุยกับหมอพอดียังไง สามารถคุยกับหมอพอดีได้ ผ่านลิงก์ด้านล่าง หรือ ช่องทางแอปพลิเคชั่นหมอ พร้อม และไลน์ แอด “หมอพร้อม” เพียงเลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ” ก็จะพบกับแบบ ประเมินสั้น ๆ และหมอพอดีที่รอคอยจะรับฟังเรื่องราว ของคุณ พร้อมประเมินระดับความซึมเศร้าให้คุณได้. [Agnos]
 
 

จุฬาฯ เปิดตัว DMIND

งานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND APPLICATION สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดีด้านนวัตกรรม จุฬาฯ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ประชาชน สามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติ และมีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ โดยมี คุณเตชินท์ พลอยเพชร (ดีเจมะตูม) เข้าร่วมงาน และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานวิศวกรรม เป็นผู้ดําเนินรายการภายในงาน เมื่อเวลา 12.00 น. ณ ห้องเธียเตอร์ อาคารหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด