24 กรกฎาคม 2567 ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “โครงการ อสม. ทั่วไทย ร่วมใจปักหมุดผ่าน
แอป “พ้นภัย” เพื่อกลุ่มเปราะบาง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมี นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ อสม. ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัด “โครงการ อสม. ทั่วไทย ร่วมใจปักหมุดผ่านแอป “พ้นภัย” เพื่อกลุ่มเปราะบาง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” มุ่งหวังให้ประชากรกลุ่มเปราะบางทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้เข้าถึงบริการสุขภาพและได้รับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและครอบคลุม โดยให้ อสม./อสส. ทำการสำรวจและปักหมุดพิกัดกลุ่มเปราะบางใน 76 จังหวัด 7,255 ตำบล และกรุงเทพมหานคร 168 แขวง รวมเป็น 7,423 ตำบล/แขวง สำหรับเข้าช่วยเหลือเป็นลำดับแรกเมื่อเกิดภัยพิบัติ และยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการเข้าช่วยเหลือ
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า โครงการ อสม. ทั่วไทย ร่วมใจปักหมุดผ่านแอป “พ้นภัย”ฯ นอกจากช่วยให้กลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน ขยายโอกาสดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 อสม./อสส. ได้ทำการปักหมุดในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว 6,762 ตำบล/แขวง คิดเป็นร้อยละ 91.10 มีผู้เปราะบางในการปักหมุดรวม 424,738 ราย แบ่งเป็น ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 359,970 ราย ผู้พิการที่ไม่สามารถหลบหนีภัยได้ 49,861 ราย และผู้ป่วยติดเตียง 14,907 ราย ซึ่งจะมีการสนับสนุนให้ อสม./อสส. ปักหมุดพิกัดกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมอีก 661 ตำบล/แขวงที่เหลือให้ครอบคลุม ภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้
ด้าน นายแพทย์สามารถกล่าวว่า การปักหมุดลงพิกัดกลุ่มเปราะบางรายใหม่ผ่านแอป “พ้นภัย” เป็นหนึ่งในภารกิจของ อสม. ที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยบูรณาการกับระบบการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ กำกับ ติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ อาทิ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เตรียมความพร้อมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง, สภากาชาดไทยส่งมอบชุดธารน้ำใจ 204,890 ชุด นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางที่อยู่ลำพัง หรือบางรายที่คนในครอบครัวต้องออกไปทำงานในช่วงกลางวัน ได้มีโอกาสพูดคุย ตรวจสุขภาพเบื้องต้นกับ อสม. ถือเป็นการเสริมพลังใจ สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับกลุ่มเปราะบางได้อีกทางหนึ่ง