ยาเสียสาวในที่นี้ คือ สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบใช้กับเหยื่อ หวังก่ออาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อรูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ
สารเคมีที่นำมาใช้ผสม อาทิ
- ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum)
- ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
- ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol)
- สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
- ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)
การออกฤทธิ์
ปกติยาเหล่านี้ จะต้องถูกใช้ในด้านการแพทย์เพื่อการดูแลและพยาบาลผู้ป่วย ภายใต้การกำกับดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามยาเหล่านี้กลับถูกนำไปใช้ทางผิดโดยมิจฉาชีพ อย่างไร้คุณธรรม
ลักษณะคุณสมมบัติการออกฤทธิต่างๆ เฉพาะที่มีผลค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ถูกเอาไปใช้ในทางที่ผิด อาทิเช่น
1. ผลของยาที่ทำให้เกิดอาการมึนงง ง่วงซึม ไม่มีสติ หรือสลบไปได้ รวมถึงยาบางตัวมีฤทธิ์คลายกังวล หรือทำให้รู้สึกเคลิ้มสุขคล้ายการดื่มแอลกอฮอล์
2. ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ไม่เกิน 30 นาที หลังจากรับประทานยา
3. สามารถละลายได้ดีในน้ำ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป ซึ่งหากใส่ไปในเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาเหล่านี้
4. มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ จึงอาจทำให้เหยื่อไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ยาเหล่านี้อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหากใช้เกินขนาด เนื่องจากมีฤทธิ์การกดการหายใจ จนเกิดอาการโคม่าเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราควรระมัดระวังตัว และเรียนรู้วิธีการที่จะป้องกันตนเอง ไม่ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยมีอาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจได้รับสารเหล่านี้ ดังนี้ อาการคลื่นไส้อาเจียน มึนงง เดินเซ หายใจลำบาก มีอาการคล้ายเมาสุรา แม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มไปเพียงเล็กน้อยจริง ๆ แล้วสารเหล่านี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่มีการควบคุมการซื้อขาย แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบนำมาขายผิดกฎหมายโดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต
หากพบเห็นมาช่วยกันแจ้งเบาะแสกับทาง อย. ได้ที่สายด่วน อย. 1556
อย. ยกระดับยาเสียสาวอัลปราโซแลมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2
เดิมอัลปราโซแลม (Alprazolam) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มีประโยชน์ทางการแพทย์ ข้อบ่งใช้คือ บรรเทาหรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก ชื่อทางการค้าที่รู้จัก เช่น ซาแน็กซ์ โซแลม มาโน เป็นต้น แต่พบว่ามีการนำยานี้ไปเสพร่วมกับยาน้ำแก้ไอ น้ำใบกระท่อมต้ม หรือที่รู้จักกันในหมู่นักเสพว่า “สี่คูณร้อย” นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม มอมยารูดทรัพย์หรือล่วงละเมิดทางเพศนักท่องเที่ยวตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งในบางรายถึงกับเสียชีวิต ดังนั้น อย. จึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 มีสาระสำคัญคือ การยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งห้ามผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท สำหรับการมีไว้ในครอบครองจะต้องขอรับ “ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์” ด้วย และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม (ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม) หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง (ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง) มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ. 2555 มีสาระสำคัญคือ เป็นประกาศที่ตัดรายการอัลปราโซแลม (Alprazolam) ออก ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทุกรายต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จึงจะมีอัลปราโซแลม (Alprazolam) ไว้ในครอบครองได้ โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 129 ตอนพิเศษ 191 ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป ร้านขายยาไม่สามารถมีและขายอัลปราโซแลม (Alprazolam) ให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป จึงขอให้ส่งยาที่คงเหลืออยู่คืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขายทั้งหมด หากพ้นกำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย สำหรับกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตครอบครองฯ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองฯ หากไม่ประสงค์จะครอบครองยา ให้ส่งคืนยาแก่ผู้ผลิตหรือผู้ขายก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ด้วยเช่นกัน แต่หากประสงค์จะมีไว้ในครอบครองต้องขออนุญาต โดยผู้มีไว้ในครอบครอง ฯ ทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต จะต้องจัดทำบัญชีรับ-จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ และรายงานทั้งรายเดือนและรายปี ส่ง อย. ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของผู้บริโภคสามารถมียาดังกล่าวไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพสั่งจ่ายให้เฉพาะตนเองเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น