สถานเสาวภาให้บริการวัคซีนป้องกัน โรคฝีดาษวานร สามารถฉีดได้กับ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย [
ประกาศบนเพจfacebook]
การบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน (ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน)
วัน-เวลาเปิดทำการ
วันจันทร์-วันศุกร์
• เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.)
• เวลา 13.00-16.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 16.00 น.)
วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
• เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.)
วันอาทิตย์ ปิดทำการ
เปิดให้บริการมาตั้งแต่ต้นปี 2567
สถานเสาวภา ได้เปิดให้บริการ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร ตั้งแต่วันที่
1 มีนาคม 2567 ที่สถานเสาวภา และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (ให้บริการโดยลงทะเบียนผ่านระบบ) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรทั่วโลก ประเทศไทยได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 สำหรับประเทศไทยรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร ณ วันที่ 5 มกราคม 2567 พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 688 คน จากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ระยอง นครปฐม ขอนแก่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25-49 ปี เป็นเพศชาย ถึงร้อยละ 97.24 โดยอาการนำที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ผื่น ไข้ และปวดกล้ามเนื้อ จากข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย สภากาชาดไทยเล็งเห็นความสำคัญในการแพร่ระบาดของโรคจึงได้ดำเนินการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร มาให้บริการประชาชน
โดยเสียค่าใช้จ่าย
ไม่ใช่วัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง แต่ป้องกันได้ 80-85%
Hfocus รายงานการตรวจสอบข้อมูลไปยังสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรง แต่พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ถึง 80-85% ซึ่งผู้ที่ควรได้รับวัคซีน คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปดังนี้
1. การฉีดวัคซีนแก่บุคคลที่มีการสัมผัสโรคแล้ว ได้แก่ ผู้ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ใกล้ชิดคลุกคลีหรือมีการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดวัคซีนภายใน 14 วัน หลังสัมผัสโรค (ดีที่สุดคือภายใน 4 วัน)
2. การฉีดวัคซีนแบบป้องกันก่อนสัมผัสโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อฝีดาษวานร และผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มขายรักชายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือ ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรง แต่ใช้วัคซีน JYNNEOS® ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษแทนเพราะพบว่าการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ถึงร้อยละ 80-85 แนะนำฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีการสัมผัสโรคโดยตรงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ใกล้ชิดคลุกคลีหรือมีการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดวัคซีนภายใน 14 วันหลังสัมผัสโรค (ดีที่สุดคือภายใน 4 วัน) และพิจารณาฉีดวัคซีนนี้แบบป้องกันก่อนสัมผัสโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อฝีดาษวานร รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือ ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา [
คลินิกนิรนาม]
ข้อมูลควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษวานร
ข้อมูลเผยแพร่จาก
รพ.จุฬาฯ เมื่อปี 2565 อธิบายว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันฝีดาษและฝีดาษวานร รุ่นที่ 3 ซึ่งลดผลข้างเคียงจากวัคซีนรุ่นเก่า ได้รับการรับรองให้ใช้ในยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2562 คือวัคซีน MVA-BN(modified vaccinia Ankara-Bavarian Nordic) โดยการนำไวรัสวัคซีเนีย มาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถแบ่งตัวได้ มีความปลอดภัยมากขึ้น
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร?
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาฝีดาษวานร และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ได้รับการยืนยันโดยควรได้รับภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่สามารถได้รับวัคซีนได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังสัมผัสเชื้อเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วย
ข้อควรรู้
- ข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนในสตรีมีครรภ์ยังมีจำกัด แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐาน ว่าวัคซีนทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มดังกล่าว
- การให้วัคซีนเป็นการฉีดใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษมาแล้ว อาจกระตุ้นเพียงครั้งเดียวได้
วันที่ 25 กันยายน 2565
ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก
อ. พญ.นันทนา จำปา และ ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ
อธิบดีกรมควบคุมโรค เน้น ไม่ต้องฉีดทุกคน ฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง วัคซีนราคาสูง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร ว่า ขณะนี้ยังไม่มี วัคซีนฝีดาษวานร ในประเทศไทย เพราะยังไม่มีการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก่อน ส่วนที่มีการประกาศให้บริการ ถือเป็นกรณีพิเศษเพื่อศึกษา
เมื่อถามว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร ขณะนี้ยังไม่ใช่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรงใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ใช่ แต่ป้องกันได้เหมือนกัน อย่างของกรมควบคุมโรค มีการเตรียมพร้อมกรณีการระบาด แต่ปัจจุบันยังไม่ระบาด โดยวัคซีนที่ใช้เป็น วัคซีนไข้ฝีดาษ ซึ่งป้องกันฝีดาษวานรได้เหมือนกัน ขณะนี้เก็บรักษาอยู่หากมีการระบาดก็พร้อมนำมาทำเป็นวัคซีน ส่วนสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ไม่มีปัญหา สามารถนำมาใช้ได้ สิ่งสำคัญตอนนี้ยังไม่ได้เกิดการระบาดเหมือนโควิด จึงยังไม่ต้องนำมาใช้
“ขณะนี้วัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษวานร ต้องบอกว่าไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จึงต้องจ่ายเอง และค่อนข้างมีราคาสูง ดังนั้น หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด ก็ขอให้อย่ากังวล อย่างบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ขณะนี้ก็ยังไม่ต้องใช้วัคซีน ซึ่งไม่ต้องห่วง กรมควบคุมโรค มีระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค พร้อมทั้งประสานข้อมูลกับนานาประเทศตลอด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว [
hfocus]
รายงานผลศึกษาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานรในคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมากกว่า 40 ปี
5 กันยายน 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว "ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox)" สายพันธุ์ B.1 และ A.2 จำนวน 30 คน พบว่า ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกัน ไม่ขึ้นในระดับป้องกันโรค มีเพียง 2 รายมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
เพื่อตอบคำถามว่าคนไทยที่รับวัคซีนฝีดาษเมื่อ 40 ปีก่อน จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้หรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้นำซีรั่มจากอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคนมานานกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 45-54, 55-64 และ 65-74 ปี มาหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ B.1 (พบในยุโรป) และ A.2 (พบในแอฟริกา) ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย มาทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อหาค่าที่ไวรัสฝีดาษวานรเชื้อเป็นถูกทำลายได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า PRNT Titer 50%, PRNT50 โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนฝีดาษคน ซึ่งระดับแอนติบอดี titer มากกว่าหรือเท่ากับ 32 (PRNT50 ≥ 32) ถือว่าคนนั้นมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
ผลการทดสอบ พบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์ มีเพียง 2 ราย ที่พบมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่า 32 (PRNT50 titer>32) ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสฝีดาษวานรได้ ในจำนวนนี้พบ 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ สรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเมื่อ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
ในเรื่องของวัคซีนนั้น หากมีวัคซีนเข้ามาจะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมาก เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแลป, คนสัมผัสใกล้ชิด และกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค หากถามว่าจำเป็นต้องนำมาฉีดกับคนทั่วไปไหม ขณะนี้ยังไม่จำเป็น เนื่องจาก ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่ เป็น BA.2 ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือคนที่เป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อย รวมทั้งเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันง่าย ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสผื่นผู้ป่วยทางผิวหนังโดยตรงหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและในเด็กเล็ก ดังนั้นมาตรการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ปัจจุบันประเทศอเมริกาและยุโรป ได้ให้การรับรองวัคซีนจีนนีออส (JYNNEOS) เพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงในกรณีฉุกเฉินแล้ว
ส่วนประเทศไทยได้มีการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับป้องกันโรคในกลุ่มที่มีความเสี่ยงแล้วจำนวน 1,000 โดส