กรุงเทพฯ, 20 สิงหาคม 2567 – เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN (Thailand One Health University Network) เผยผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อวัคซีนโควิด-19 พบว่า กว่า 1 ใน 3 ของประชาชนยังต้องการรับวัคซีน หากมีบริการฟรี และส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ยังจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนสำหรับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อเตรียมพร้อมหากมีการระบาด หรือโรคที่มีแน้วโน้มอันตรายมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนลังเลในการรับวัคซีน มาจากความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยนักวิชาการแนะนำว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาด การสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องความสำคัญ และความปลอดภัยของวัคซีนยังคงเป็นเรื่องจำเป็น
แนวทางการสำรวจ
ผลการสำรวจในหัวข้อ “ความรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล และปัจจัยที่มีผลต่อการรับวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนและกลุ่ม 608” ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 550 คน ผ่านแบบสอบถามออนไลน์และการสัมภาษณ์ พบว่า ประชาชนทั่วไปมีการรับรู้ที่ดีถึงดีมากเกี่ยวกับอาการของโรคโควิด-19 การปฏิบัติตนเมื่อติดเชื้อ และกลุ่มที่มีความเสี่ยง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังคงติดตามข่าวสาร เช่น สถานการณ์และความรุนแรงของโรคระบาดในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัส โดยเลือกรับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และบางส่วนติดตามข้อมูลจากบุคคลที่มีชื่อเสียง
ประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 ใน 3 (39%) มีความต้องการที่จะเข้ารับวัคซีน หากมีบริการฟรีให้แก่ประชาชน และมีเพียง 14% เท่านั้นที่ต้องการฉีดวัคซีน หากมีค่าใช้จ่าย และส่วนมากเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้แก่บุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเปราะบาง เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับการระบาดของโรคใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดย 74% เห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์ยังควรได้รับวัคซีน ในขณะที่ราว 60% มองว่า ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้ถึงความต้องการวัคซีนโควิด-19 และการให้บริการฟรีให้แก่ประชาชน
ในส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ลังเลในการรับวัคซีนมีเหตุผลหลักๆ จากความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง และไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน ดังนั้น การสื่อสารข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ และความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 แนวทาง
รศ. ดร. แสงเดือน มูลสม ผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) และอาจารย์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า การเตรียมความพร้อมด้านวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง 608 ควรต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับบทบาทของวัคซีน โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้
- สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของวัคซีนในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งหน่วยงานด้านสาธารณสุข เช่น องค์การอนามัยโลก ยังคงแนะนำให้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะลดลงตามเวลา
- จัดหาและสำรองวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมรับมือหากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น
- ประสานความร่วมมือในการคัดกรอง และตรวจสอบข้อมูลเท็จ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานทางการแพทย์ และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อเสริมสร้างเกราะป้องกันที่ดีในการรับข่าวสารด้านสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของประชาชนทั้งประเทศ
“แม้ในปัจจุบันโรคโควิด-19 จะถือเป็นโรคประจำถิ่น แต่รายงานของกรมควบคุมโรคพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการหนัก และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงมีผู้เสียชีวิตเช่นกัน หน่วยงานด้านสาธารณสุขจึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและบริหารความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย โดยการทำการสำรวจในครั้งนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจของประชาชนแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการออกแบบการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการวางแผนการป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย” รศ. ดร. แสงเดือน กล่าวสรุป
เกี่ยวกับ THOHUN
เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (Thailand One Health University Network: THOHUN) ก่อตั้งเมื่อปี 2555 โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 88 คณะ 16 มหาวิทยาลัย มีมีการสื่อสารผ่านศูนย์ประสานงานของเครือข่ายฯ และมีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมแนวคิด และการประยุกต์ใช้วิธีการทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสาธารณสุขและปัญหาอื่น ๆ ที่ซับซ้อนในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลกอีกด้วย
facebook.com/NCOTHOHUN