13 พฤศจิกายน 2567
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบกรณีผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจน โดย พญ.ภาวินี วงศ์ประสิทธิ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ รายงานว่า มีผู้ป่วยชายไทย อายุ 32 ปี เข้ารับการรักษาด้วยภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า(E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury : EVALI) โดยผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ต่ำๆ ไอเป็นเลือด เจ็บคอ และเหนื่อยมาก จากการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ไม่พบการติดเชื้อก่อโรคใดๆ ทั้งไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย แต่สังเกตพบว่าผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายอาการลงแดงจากการขาดนิโคติน และจากการซักประวัติพบว่ามีประวัติการสูบบุหรี่หนักมากทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า โดยก่อนเข้ารับการรักษาประมาณ 1-2 เดือน ผู้ป่วยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงวันละ 4 พอต หรือประมาณ 400 สูด ต่อวัน ซึ่งผู้ป่วยรายนี้หากแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจไม่ทัน อาจถึงแก่ชีวิตได้
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่มวน เนื่องจากมีนิโคติน โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง และยังมีสารเคมีในสารปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าอีกหลายชนิดที่ทำให้เสพติดได้ง่ายและเลิกสูบยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังและเฉียบพลัน เช่น ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงได้กำชับให้ทุกโรงพยาบาลเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซักประวัติการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าอย่างละเอียด เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที พร้อมกันนี้ ให้สื่อสารถึงประชาชน สร้างความรู้และตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่หลงเชื่อว่าเป็นทางเลือกในการเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่อาจตกเป็นเหยื่อทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย
ทั้งนี้ สารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เวียนศีรษะ วิงเวียน การนอนหลับผิดปกติ มีปัญหาการไหลเวียนของเลือด ระบบทางเดินอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ท้องร่วง คลื่นไส้ ปากแห้ง กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย และโรคมะเร็ง ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม ตัวสั่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็ง เพิ่มการเกาะเป็นก้อนในกระแสเลือด อัตราการเต้นของหัวใจผันผวน ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว และเต้นผิดจังหวะ และระบบหายใจ ทำให้หายใจถี่ เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมหดเกร็งและโรคมะเร็ง