เนื่องจากมีรูปแบบการเคลื่อนที่แตกต่างจากยานพาหนะแบบอื่น เช่น มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากรางในการขับเคลื่อน ไม่ได้มีพลังงานติดตัวไปแบบรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง หรือมีความต้องการให้บริการอย่างสะดวกรวดเร็วไม่ต้องเผชิญรถติดบนถนนที่มียานพาหนะประเภทอื่น ๆ วิ่งกันอยู่จนเต็มไปหมดแล้ว ระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะมีหลายรูปแบบ จะอยู่บนดิน ใต้ดินหรือลอยฟ้าก็ได้ จะมีเส้นทางวิ่งจำเพาะของตนเองทั้งหมดแบบรถไฟฟ้าทั้งหลายหรือบางส่วนแบบรถ BRT ก็ได้เช่นกัน
การเลือกระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะมาใช้งานก็มีเงื่อนไขความเหมาะสมเช่นกัน กรุงเทพฯ เคยมีรถรางมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วยกเลิกไปในปี 2511 ด้วยเหตุว่าเกะกะ ต้นทุนสูง และรถประจำทางสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในเวลานั้น จากนั้นก็ใช้รถเมล์เป็นหลักมาจึงถึง พ.ศ. 2542 รถ BTS ระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะก็ได้เปิดตัวขึ้นมาแล้วพัฒนาเป็นระบบขนส่งมวลชนสายหลักจนถึงปัจจุบัน และมีการสร้างรถ MRT รถไฟฟ้าสายสีม่วง และอีกหลายสายที่เปิดให้บริการต่อไปในอนาคต ถ้าพิจารณาว่า “รถไฟฟ้า” มีไว้ทำอะไรนะ ทำไมมาแทนรถประจำทางได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก ต้องมีช่องทางของตัวเอง ส่งผลกระทบต่อการสัญจรรูปแบบอื่นทั้งในช่วงการก่อสร้างที่ต้องปิดถนนเป็นเวลานาน และเมื่อเปิดให้บริการแล้ว บริเวณสถานีก็จะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะหลายประเภท เมื่อต้นทุนสูงกว่าและส่งผลกระทบต่อส่วนรวมมากกว่ารถประจำทาง ทำไมมหานครต่าง ๆ จึงพยายามสร้างรถไฟฟ้ามาใช้แทนรถประจำทางอยู่ตลอด ลองมาหาคำตอบกันดู
โดยหลักการแล้วที่ต้องมีทางวิ่งเฉพาะไม่ปะปนกับยานพาหนะประเภทอื่น ก็เพราะพื้นผิวจราจรปกติบนถนนเต็มแล้ว เอาขนส่งมวลชนลงไปวิ่งก็ไปไม่ได้รวดเร็วและเพิ่มปัญหาจราจรที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก ดังนั้นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องมีขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะเป็นลำดับแรก ก็คือกลางเมืองที่บนถนนมีรถติดหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจุกตัวกันอย่างหนาแน่นมาก มีคนมาใช้พื้นที่เยอะ ถ้าปล่อยให้คนจำนวนมากเหล่านั้นขับรถส่วนตัวหรือขึ้นรถประจำทางมาเท่านั้น พื้นผิวการจราจรบนถนนก็ไม่สามารถรองรับปริมาณยานพาหนะได้อย่างเพียงพอ จึงต้องมีรถไฟฟ้าในฐานะระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะมาช่วยลำเลียงคนเข้าออกพื้นที่ที่มีกิจกรรมหนาแน่นสูง เพื่อให้การสัญจรมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับปริมาณการเดินทางในพื้นที่นั้น ๆ ช่วยลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทางที่เข้ามาในพื้นที่หนาแน่นสูงดังกล่าว ทำให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากพื้นที่ศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมืองที่ต้องการรถไฟฟ้าแล้ว เส้นทางวงแหวนล้อมรอบเมืองก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะมาให้บริการได้ หลักการของเส้นทางวงแหวนมีไว้เพื่อให้คนเดินทางจากด้านหนึ่งของเมืองไปสู่อีกด้านหนึ่งของเมืองได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านศูนย์กลางเมืองที่มีปัญหาจราจรมากอยู่แล้ว ทำให้การเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผู้โดยสารไม่ต้องเดินทางจากด้านหนึ่งของเมืองเข้ามากลางเมืองเพื่อเปลี่ยนยานพาหนะอีกคันหนึ่งเพื่อออกไปสู่จุดหมายปลายทางที่อยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง ระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะก็สามารถนำมาใช้กับเส้นวงแหวนได้ถ้ามีปริมาณผู้โดยสารมากพอ ซึ่งมีค่าเดินทางถูกกว่ารถยนต์ส่วนตัว และอาจเดินทางได้อย่างรวดเร็วกว่าในช่วงเวลาเร่งด่วน
อีกพื้นที่หนึ่งที่คือที่รถไฟฟ้าสามารถให้บริการได้คือ รถไฟฟ้าชานเมือง เพื่อลำเลียงประชาชนจากแหล่งที่อยู่อาศัยชานเมืองมาสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจกลางเมือง ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงได้ แต่ก็เหมาะกับเฉพาะย่านชานเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจนเพียงพอต่อการลงทุนกับระบบขนส่งมวลชนบนทางวิ่งเฉพาะนอกจากนี้ยังสามารถใช้รถไฟฟ้ากับการเข้าออกพื้นที่หรืออาคารที่มีกิจกรรมพิเศษ มีคนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากตลอดเวลา เช่น สนามบิน หรือบางเวลา เช่น ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าขนาดใหญ่ สนามกีฬาแห่งชาติ
ดังนั้น โดยหลักการแล้ว รถไฟฟ้าไม่ได้มีไว้เพื่อขยายเมือง แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความจุของระบบจราจรในเขตกลางเมือง ช่วยบรรเทาปัญหารถติดบนถนนปกติโดยย้ายผู้โดยสารจากรถยนต์และรถประจำทางไปสู่ทางวิ่งเฉพาะที่เพิ่มเติมขึ้นมา ส่วนการสร้างสายทางวงแหวน สายทางชานเมือง และสายทางเข้าพื้นที่กิจกรรมพิเศษ จะถูกใช้เมื่อมีปริมาณการสัญจรมากเกินกว่าที่การสัญจรบนถนนปกติจะรองรับได้อย่างเพียงพอเท่านั้น ถ้าเข้าใจแบบนี้ ก็จะเรียงลำดับการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 10+2 สายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างถูกต้อง แก้ปัญหาการจราจรได้อย่างตรงประเด็น และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองได้อย่างเหมาะสม
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซด์ Rabbit Today เมื่อปี 2019