โรงพยาบาลกลาง ร่วมกับ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดหน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มกระตุ้น โมเดอร์นา ชนิดไบวาเลนต์ (Moderna Bivalent) สำหรับประชาชนคนไทย ต่างชาติ ต่างด้าว ณ บริเวณชั้น 6 โซน D ศูนย์การค้า MBK Center ให้บริการฉีดจำกัด 500 คน/วัน
เริ่มวันศุกร์ที่ 28 เมษายน ถึง วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 - 15.00 น.
หลังจากนั้นฉีดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 20,21,27,28 เดือนพฤษภาคม ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น.
** ปิดให้บริการช่วงวันเลือกตั้ง 13-14 พฤษภาคม 2566 **
เงื่อนไขการให้บริการ และเอกสารที่ต้องเตรียม
ผู้เข้ารับวัคซีนอายุ 12 ปีขึ้นไป มีการฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ห่างจากวัคซีนที่ฉีดล่าสุด 3 เดือน หรือต้องหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 3 เดือน
คนไทย นำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดง หลักฐานการฉีดวัคซีน (ในแอปพลิเคชันหมอพร้อม) สามารถมารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
คนต่างชาติพำนัก หรือทำงานในประเทศไทย นำพาสปอร์ตตัวจริงมาแสดง โดยเสียค่าบริการฉีดวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สอบถามรายเอียดเพิ่มเติมที่ MBK Contact Center 1285
รองผู้ว่าฯ กทม. เยี่ยมชมหน่วยฉีด
วันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2566 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เข้าเยี่ยมชมหน่วยฉีดวัคซีน COVID-19 โรงพยาบาลกลาง ณ บริเวณ ชั้น 6 โซน D ศูนย์การค้า MBK Center โดยมี แพทย์หญิงประกายพรึก ทั่งทอง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฝ่ายการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จากการเฝ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนสงกรานต์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 100 กว่าคน ซึ่งจะใกล้เคียงกันกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ปกติ อาจจะเป็นไปได้ว่าเริ่มเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จึงมีการถอดหน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย พอผ่านช่วงสงกรานต์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กรุงเทพมหานครเก็บได้ประมาณวันละ 1,000 บาท และยังคงเป็น 1,000 คน เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ซึ่งยังไม่น่าตกใจ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยสีเขียว คือ มีอาการเล็กน้อย สามารถรักษาตัวที่บ้าน และทานยาตามอาการได้ มีคนไข้จริงๆ ที่เข้าสู่ระบบโรงพยาบาลเพียงวันละ 10 กว่าคนเท่านั้น ในแง่ของความรุนแรงของอาการอาจจะไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะมีผลกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว กลุ่ม 608 อีกประเด็นที่ผู้ว่าฯ กทม. กังวลมาก ในช่วงเปิดเทอมน้องๆ หลายคน ต้องไปเรียนหนังสือ มีปฏิสัมพันธ์กัน ส่งผลให้มีการติดเชื้อมากขึ้น จึงอยากประชาสัมพันธ์เรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น ทั้งนี้ MBK เคยมีโครงการร่วมกับทางโรงพยาบาลรามาอยู่ก่อนแล้ว กรุงเทพมหานครจึงได้ประสานกับ MBK เปิดหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนที่เดินอยู่ในศูนย์การค้า มาทานข้าว มาจับจ่ายซื้อของ เข้ามาใช้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อีกทั้งช่วยลดความแออัดของศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้ป่วยเข้ามารักษาจำนวนมาก หน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกสถานที่ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้