29 มกราคม 2567 ที่โรงพยาบาลฉลอง จังหวัดภูเก็ต นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บริจาคเงินสนับสนุนโรงพยาบาลฉลอง โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชูชาติ นิจวัฒนา ผอ.โรงพยาบาลฉลอง นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัติ อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย เป็น 1 ใน 13 นโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเยือนปีละหลายล้านคน จึงเป็นจังหวัดนำร่อง “Safety Phuket Island Sandbox” ที่มีการยกระดับความปลอดภัยทางสุขภาพ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค ควบคุมโรคที่ทันสมัย ทันเวลา และการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม โดยพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนให้มีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น CT, MRI สามารถตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยโรคที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายและมีระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ สามารถให้บริการได้ทันท่วงที โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินต่อชีวิต ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างดี
ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฉลอง เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งที่ 4 ของจังหวัดภูเก็ต รับผิดชอบประชาชนในตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ ตำบลกะรน รวม 54,227 คน เปิดให้บริการเมื่อปี 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จึงยังไม่ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ให้บริการจริง 48 เตียง มีบริการตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไป 4 ห้อง และบริการคลินิกเฉพาะ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ, ให้สุขศึกษา เลิกบุหรี่ เลิกสุรา, กระดูกและข้อ, โรคเรื้อรังเบาหวานความดัน, ลดพุง/ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, กระตุ้นพัฒนาการเด็ก, กัญชาทางการแพทย์, โรงเรียนพ่อแม่, จิตเวชและบำบัดยาเสพติด และส่งเสริมการมีบุตร ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2567) มีผู้เข้ารับบริการทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าว รวมมากกว่า 500,000 ราย และมีผู้ป่วยด้านสาธารณสุขทางทะเลเข้ารับบริการ ประมาณ 200 ราย โดยในปี 2567 โรงพยาบาลฉลองมีแผนที่จะพัฒนาให้ผ่านการประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ขั้น 1 และ 2 และเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้วย