นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 8 มีนโยบายพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด (ACS) ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่สามารถสวนหัวใจ และผ่าตัดหัวใจได้เพียง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลสกลนคร ทำให้พบปัญหาในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา มีอัตราตายของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูง จึงมีแผนพัฒนายกระดับโรงพยาบาลเลย โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลหนองคาย เป็นศูนย์หัวใจระดับ 2 รองรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยให้เข้าถึงบริการได้รวดเร็วมากขึ้น
ด้านนายแพทย์ชวมัย สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนานแนวลำน้ำโขง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญสู่ระเบียงเศรษฐกิจอินโดจีน และอยู่ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กรณีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรงพยาบาลหนองคายจะให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Streptokinase) และส่งต่อไปรับการสวนขยายหลอดเลือด (PCI) ที่โรงพยาบาลอุดรธานี ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยวิธี PCI เพียงร้อยละ 30 เนื่องจากระยะทางไกลเกิน 50 กิโลเมตร ขณะที่โรงพยาบาลใกล้เคียงในเขตจังหวัดบึงกาฬ และประชาชนจาก สปป.ลาว ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์หัวใจชายแดนระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพสู่อินโดจีน จังหวัดหนองคาย” โดยได้รับความเมตตาจาก หลวงปู่ปรีดา ฉนฺทกโร (หลวงปู่ทุย) วัดป่าด่านวิเวก อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ บริจาคเงินจำนวน 90 ล้านบาท ในการปรับปรุงจุดบริการ ชั้น 2 อาคารผู้ป่วยใน 10 ชั้น โรงพยาบาลหนองคายเป็นห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ และหออภิบาลผู้ป่วยหัวใจ (CCU) พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะให้บริการในปลายปี 2566 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ พื้นที่ใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน เข้าถึงบริการสวนหัวใจและผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ตามนโยบาย “One price One standard” ของโรงพยาบาลหนองคาย
ทั้งนี้ ศูนย์หัวใจฯ โรงพยาบาลหนองคาย มีพยาบาลเฉพาะทางหัวใจและหลอดเลือด 4 คน และมีบุคลากรอยู่ระหว่างการฝึกอบรมที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด 1 คน พยาบาลประจำห้องปฏิบัติการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ 3 คน และนักกายภาพบำบัด หลักสูตรกายภาพบำบัดฟื้นฟูหัวใจ 2 คน