เนื่องด้วยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิและเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีความซับซ้อน มีแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย
ทางภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวช เป็นอีกหนึ่งภาควิชาในโรงเรียนแพทย์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร การรักษาผู้มีบุตรยาก จัดเป็นอีกหนึ่งการบริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง แพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเกิดเป็นศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากแห่งนี้ขึ้นมา เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศและบริการของโรงพยาบาลมหาลัยนเรศวร
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเริ่มเปิดให้บริการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่เป็นการให้การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เช่น การกินยากระตุ้นไข่และการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก ต่อมาในปีพ.ศ. 2556 เริ่มมีการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คือ การทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization and intracytoplasmic sperm injection)
ในปีพ.ศ. 2558 ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้รับการประเมินและขึ้นทะเบียนรับรองตามมาตรฐานกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และสามารถให้บริการด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎข้อบังคับ สำหรับจำนวนคู่สมรสที่มารับการรักษาภาวะมีบุตรยากที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และในปี 2560 ได้รับการตรวจเยี่ยมติดตามและรับรองตามมาตรฐานการให้บริการทางเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศของแพทยสภา
ปัจจุบันศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้นทุกปี มีอาจารย์เเพทย์ที่จบเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จำนวน 3 ท่าน นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อนจำนวน 2 ท่าน พยาบาลจำนวน 2 ท่าน และผู้ปฏิบัติงานจำนวน 1 ท่าน
การให้บริการรักษาของศูนย์มีบุตรยาก
ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ตั้งแต่การกระตุ้นไข่ การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว การแช่แข็งตัวอ่อน การแช่แข็งอสุจิ และการทำจุลหัตถการเป็นต้น ประกอบกับในปัจจุบันคู่สมรสมีบุตรยากมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากโรคทางนรีเวชที่ทำให้รบกวนกระบวนการตกไข่ การปฏิสนธิและการฝังตัวของตัวอ่อน เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (leiomyoma) และอายุของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน รวมถึงภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชาย (male factors)
ดังนั้นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงส่งเสริมให้เปิดบริการคลินิกมีบุตรยากเพื่อให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่างสามารถเข้าถึงการบริการด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้สะดวกมากขึ้น
ขั้นตอนเข้ารับบริการและติดต่อขอทำนัดสำหรับผู้รับบริการรายใหม่
ผู้รับบริการติดต่อจุดคัดกรองที่อาคารสิรินธร ชั้น 1 เพื่อซักประวัติเบื้องต้น โดยเเจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองว่ามาติดต่อทำนัดรักษามีบุตรยาก หากผู้รับบริการยังไม่มีแฟ้มประวัติกับทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ติดต่อประชาสัมพันธ์เพื่อทำแฟ้มประวัติให้เรียบร้อย
ผู้รับบริการขึ้นมาติดต่อที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 ชั้น 2 (ห้องคลอด) เพื่อติดต่อทำบัตรนัดและรับคำแนะนำก่อนมาพบแพทย์ครั้งต่อไป
เมื่อถึงวันนัดหมายให้ผู้รับบริการติดต่อตรวจสอบสิทธิ์การรักษาที่ประชาสัมพันธ์ อาคารสิรินธร ชั้น 1 ก่อน จากนั้นให้นำบัตรนัดมา
ยื่นรับบัตรคิวเพื่อรอซักประวัติและพบแพทย์ที่หน้าห้องตรวจสูติ-นรีเวช อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 ชั้น 2
หมายเหตุ
1. การเข้ารับบริการ ศูนย์รักษามีบุตรยากที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้รับบริการต้องชำระค่าบริการเองไม่สามารถใช้สิทธิ์การรักษาในการเบิกได้
2. ผู้รับบริการสามารถมาทำนัดได้ด้วยตนเองในวันเเละเวลาราชการเท่านั้น ยกเว้นวันหยุดทำการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ผู้รับบริการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก 055-965653 ,055-965670 ในวันและเวลาราชการ
แนวทางการเตรียมตัวในการมาตรวจรักษามีบุตรยากกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ทางศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเรียนให้ผู้รับบริการที่จะเข้ารับบริการไม่ว่าจะเป็น การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก หรือการทำเด็กหลอดแก้ว นับตั้งเเต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป เมื่อเริ่มการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้นำเอกสารมายื่นดังนี้
1.1 สำเนาบัตรประชาชนของตนเองและคู่สมรส พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง คนละ 1 ฉบับ
1.2 สำเนาทะเบียนสมรส พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทั้งสองฝ่าย จำนวน 1 ฉบับ
หมายเหตุ ในกรณีที่คู่สมรสมีสัญชาติอื่นและคู่สมรสที่ทำการจดทะเบียนสมรสจากต่างประเทศ ให้นำสำเนาทะเบียนสมรสที่ออกโดยสถานฑูตประเทศที่จดทะเบียน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทั้งสองฝ่าย จำนวน 1 ฉบับ หากยังไม่มีทะเบียนสมรสให้ติดต่อจดทะเบียนสมรสให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับบริการ
โดยผู้รับบริการจะต้องนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ก่อนทำหัตถการต่างๆ มิฉะนั้นทางศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากของดการให้บริการรักษาทุกกรณี
ผู้รับบริการรายเก่าที่ยังไม่ได้นำเอกสารมายื่น ให้นำมาในการทำหัถตการครั้งต่อไปของการรับบริการ
แนวทางการตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
- การซักประวัติทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
- การตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยฝ่ายชายจะได้รับการตรวจน้ำเชื้ออสุจิ และฝ่ายหญิงจะได้รับการตรวจภายใน โดยงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1วัน
- การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบชนิดบี รวมถึงตรวจพาหะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
- การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
- การตรวจพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งจะพิจารณาในแต่ละรายตามดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา เช่น การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ การฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงมดลูก เป็นต้น
หมายเหตุ ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนมาตรวจเลือด
คำแนะนำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิเพื่อการตรวจวินิจฉัย
- ควรงดการหลั่งน้ำเชื้ออสุจิ 2-3 วัน ก่อนการตรวจน้ำเชื้อ
- รับภาชนะปลอดเชื้อสำหรับเก็บน้ำเชื้อ และเก็บน้ำเชื้ออสุจิที่ห้องเก็บน้ำเชื้อที่ทางศูนย์จัดเตรียมให้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนทำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ
- ล้างอวัยวะเพศให้สะอาด แล้วเช็ดด้วยกระดาษทิชชูให้แห้งก่อนทำการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ
- เก็บน้ำเชื้ออสุจิด้วยวิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง และให้เก็บทุกส่วนที่หลั่งออกมาลงในภาชนะปลอดเชื้อที่ได้รับ ไม่ควรเก็บน้ำเชื้ออสุจิด้วยการมีเพศสัมพันธ์หรือสวมถุงยางอนามัย
- หลังจากเก็บเสร็จเรียบร้อยให้นำน้ำเชื้ออสุจิส่งในทันที หรือในกรณีที่เก็บมาจากที่บ้านให้นำมาส่งภายใน 1 ชั่วโมง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่
ในเวลาราชการ (จันทร์-ศุกร์ 8:00-16:00 น.) ติดต่อที่
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โทร. 055-965653
คลินิกสูติ-นรีเวช โทร 055-965665, 055-965685
นอกเวลาราชการ ติดต่อที่ห้องคลอด โทร 055-965674
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดบริการให้คำปรึกษาและรักษาคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยทีมเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ณ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 ชั้น 2 (ห้องคลอด)
ตารางการออกตรวจของอาจารย์เเพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
- วันจันทร์ อาจารย์แพทย์หญิงชลธิชา กรมประสิทธิ์
- วันอังคาร อาจารย์แพทย์หญิงพัชรดา อมาตยกุล
- วันพุธ อาจารย์แพทย์หญิงอภิรดี จิรัฐิติกาลโชติ
- วันพฤหัสบดี อาจารย์นายแพทย์สุรชัย เดชอาคม
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศและบริการของโรงพยาบาลมหาลัยนเรศวร ที่มีทั้งหมด ดังนี้
- ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา
- ศูนย์มะเร็ง
- ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา
- ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก
- ศูนย์โรคหัวใจ
- สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า
- ศูนย์โรคไต