ถ้าถามว่าคนกรุงเทพฯ เบื่อกับปัญหาอะไรมากที่สุด อันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นปัญหาการจราจรติดขัดที่พวกเราเจอกันอยู่ทุกวัน แถมยังได้รับการจัดอันดับอยู่แถวหน้าของปัญหาการจราจรในโลกจากทุกสำนักจัดอันดับ เช่น บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจราจรที่ชื่อว่า INRIX จัดอันดับให้ประเทศไทยรถติดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เสียเวลากับรถติดเฉลี่ย 61 ชั่วโมงต่อปี ทิ้งอันดับสองคือโคลอมเบียและอินโดนีเซียขาดกระจุยเพราะเขาเสียเวลาในรถติดแค่ 47 ชั่วโมงต่อปี
แต่ถ้าจัดอันดับลงมาเป็นระดับเมือง กรุงเทพฯ ของเรารถติดเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่ก็เป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย โดยประชาชนเสียเวลาไปกับรถติดเฉลี่ย 64.1 ชั่วโมงต่อปี (อันดับหนึ่งคือเมืองลอสแอนเจลิส เสียเวลากับรถติดไป104 ชั่วโมงต่อปี)
ปัญหาจราจรในกรุงเทพเริ่มจากไหน
ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ มีต้นเหตุจากอะไร แต่ละคนก็คงมีคำตอบในใจแตกต่างกัน ถ้าทำการตรวจร่างกายคนป่วย เราก็ต้องดูสภาพสรีระของคนป่วยเป็นอันดับแรก กรุงเทพฯ มีรูปแบบผังเมืองอย่างไรจึงทำให้รถติด เริ่มต้นที่คำถามว่า กรุงเทพฯ มีถนนพอจะรองรับการจราจรได้ตามมาตรฐานโลกหรือไม่ Dr.Joan CLOS, Executive Director ของ UN-Habitat ระบุว่า
“ถ้าเมืองมีสัดส่วนพื้นที่ทางสัญจรเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองน้อยกว่า 30% จะมีปัญหาการจราจรติดขัดแน่นอน”
โอ้โห ฟังดูเยอะจังเลย ตั้ง 30% ของเมืองทั้งหมดควรเป็นพื้นที่ทางสัญจร 1 ใน 3 ของเมืองเลยนะ แต่มหานครอื่น ๆ ของโลกก็พอจะทำได้นะครับ เช่น มหานครนิวยอร์กที่มีผังเป็นตาตารางถี่ ๆ มีพื้นที่ถนนถึง 38% ของพื้นที่เมือง ส่วนมหานครโตเกียวมี 23% ซึ่งทั้งสองมหานครนี้ก็ยังรถมีปัญหารถติดอย่างหนัก
ย้อนกลับมาดูกรุงเทพฯ ของเราว่ามีพื้นที่ถนนเท่าไหร่ รายงานการศึกษาของโครงการจัดทำมาตรฐานด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานครสำรวจไว้เมื่อปี 2553 ระบุว่ากรุงเทพมีพื้นที่ถนนเพียง 3.76% เมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมด (ถ้ารวมทางด่วนจะเป็น 8% ซึ่งไม่ควรเอามารวมกันเพราะต้องจ่ายตังค์ถึงจะใช้ได้) แปลว่าเรามีพื้นที่ทางสัญจรต่ำกว่ามาตรฐานถึงสิบเท่า และนี่คือต้นเหตุหลักของปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ คือเราไม่มีพื้นที่รองรับการสัญจรอย่างเพียงพอนั่นเอง ถ้าเราไม่เริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มพื้นที่สัญจรให้มากขึ้น จะเอาเทคโนโลยีอย่างไรมาช่วยก็คงไม่มีอะไรดีขึ้นได้ เพราะสรีระของกรุงเทพฯ เป็นแบบรากฐานของปัญหา ไม่แก้ที่รากฐานไปแก้ปลายเหตุไม่มีทางสำเร็จแน่นอน
มาตรฐานสากลเทียบผังเมืองกรุงเทพ
มาตรฐานของพื้นที่หน่วยเล็กที่สุดในเมืองคือหน่วยของที่พักอาศัยหนาแน่นต่ำ 1 บล็อกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีถนนล้อมรอบจะมีขนาดไม่เกิน 2 เท่าของระยะเดินเท้า หมายความว่า คนที่อยู่อาศัยในบ้านที่อยู่ตรงกลางของบล็อกออกมาที่ประตูบ้านแล้ว จะเดินไปทางซ้ายหรือขวาไป 1 ระยะเดินเท้าจะต้องเจอถนนสายรองที่มีรถประจำทางหรือระบบขนส่งมวลชนวิ่งให้บริการอยู่รวมสองข้างก็เป็น 2 ระยะเดินเท้า (ย่านที่พักอาศัยไม่ควรมีรถประจำทางวิ่งผ่านหน้าบ้าน เพราะจะเสียความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวไป)
หนึ่งระยะเดินเท้ามีระยะตั้งแต่ 400 ถึง 800 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ ประชากร ภูมิอากาศ หมายความว่าที่พักอาศัยหนาแน่นต่ำ (ซึ่งเป็นบล็อกที่ใหญ่ที่สุดในเมือง) 1 บล็อกจะมีขนาดตั้งแต่ 800 x 800 หรือ 1,600 x1,600 เมตร ถ้าเมืองประกอบขึ้นด้วยบล็อกขนาดมาตรฐานที่ผมเล่าให้ฟังเป็นฐาน เมืองจะมีสัดส่วนพื้นที่ถนนเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมดไม่น้อยกว่า 30% ตามมาตรฐานอย่างแน่นอน
แต่กรุงเทพฯ ของเราพัฒนาจากคูนา คันดิน ขนัดสวน ผนวกกับการเดินทางในคูคลองเป็นหลัก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถนนจึงสร้างถนนมาตรฐานเพียงแค่ถนนสายหลักเท่านั้น บล็อกมาตรฐานของกทม.จึงกลายเป็นบล็อกขนาดใหญ่ (Super Block) ที่มีขนาดประมาณ 2000x 2000 เมตรขึ้นไป ผลก็คือ
• เมื่อบล็อกใหญ่ พื้นที่ถนนก็ต้องเล็กตามไปด้วย และทำให้บ้านที่อยู่ด้านใน Super Block เหล่านี้ไม่สามารถเดินเท้าไปต่อกับระบบขนส่งมวลชนที่ปากซอยได้ต้องใช้รถสี่ล้อเล็ก รถเมล์เล็ก หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
• ส่งผลให้ค่าเดินทางและเวลาในการเดินทางของคนเมืองสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะต้องเสียค่าเดินทางในส่วนจากระบบขนส่งมวลชนหลักถึงบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นอีก
• ส่งผลให้ประชาชนเลือกที่จะอยู่ไกลเมืองมากขึ้น แต่ขอให้อยู่บนถนนสายหลักเพราะจะเสียค่าเดินทางเพียงต่อเดียวคือบนระบบขนส่งมวลชนสายหลัก ซึ่งจะมีค่าเดินทางถูกกว่าการอยู่ใกล้เมืองแต่อยู่ด้านในของ Super Block ที่ต้องเสียค่าเดินทางสองต่อ
• อีกทั้งค่าเดินทางจากปากซอยเข้าบ้านกลาง Super Block ยังแพงมากอีกด้วย (ประมาณว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดค่าโดยสาร 10 บาท/กิโลเมตร)
• รวมถึงราคาที่พักอาศัยนอกเมืองยังถูกกว่าที่พักอาศัยกลางเมือง ถ้าจ่ายเงินเท่ากันอยู่ในเมืองได้คอนโดห้อง Studio เล็ก ๆ แต่อยู่นอกเมืองได้บ้านเดี่ยว คนจึงเลือกอยู่นอกเมืองเพราะต้นทุนค่าที่พักและค่าเดินทางถูกกว่าอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมืองนั่นเอง
ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ มีต้นเหตุมาจากโครงสร้างทางกายภาพของกรุงเทพฯ เอง แต่แนวทางในการแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานครและรัฐบาลไทยทำมาตลอดหลายสิบปี คือการสร้างและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสายหลักและขยายให้ไกลจากศูนย์กลางเมืองมากที่สุดเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิธีการซ้อนทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนบนรางลงบนพื้นที่สาธารณะเดิม ซึ่งก็ทำได้แค่บนนถนนสายหลักอย่างเดียว ไม่ได้คิดจะแก้ปัญหา Super Block เพราะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อเพิ่มและปรับเปลี่ยนถนนสายรองและสายท้องถิ่นเพื่อทลาย Super Block ลง
เนื่องจากการกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุแต่ก็ใช้เวลานานและมีผลทางการเมืองสูง เช่น การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนสายรอง แต่ประชาชนไม่ยอมรับวิธีการดังกล่าวประชาชนชาวกรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรกันต่อไปเพราะไม่มีใครยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นนั่นเอง
*** บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ในเว็ปไซด์ Rabbit Today เมื่อปี 2018 ***