ช่วงที่ผ่านในวงการเลี้ยงสุกรต้องเผชิญหน้ากับโรค PRRS หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome หรือที่เกษตรกรรู้จักดีในชื่อ “โรคเพิร์ส” ซึ่งพบการระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยหรือฟาร์มหลังบ้าน ที่อาจจะยังมีระบบการจัดการฟาร์มและการป้องกันโรคยังไม่ดีนัก โรคนี้เกิดเฉพาะเจาะจงในสุกร ไม่ติดต่อสัตว์อื่น รวมถึงไม่ใช่โรคที่แพร่หรือเป็นอันตรายต่อคน
PRRS คืออะไร? เพิร์ส เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ มีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา เมื่อพ.ศ. 2522 และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วทวีปยุโรปและทั่วโลก ส่วนในไทยยืนยันพบการระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ. 2537 โดยโรคทำให้เกิดอัตราการตายต่ำ แต่สุกรจะอมโรคและสามารถแพร่จากฝูงหนึ่งไปอีกฝูงได้ ผ่านสารคัดหลั่ง ผ่านทางอากาศ น้ำเชื้อที่ใช้ผสมเทียม รวมถึงแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำโรค
สำหรับอาการที่สุกรแสดงออกคือ มีไข้ เบื่ออาหาร ผิวหนังคั่งเลือดโดยเฉพาะ บริเวณใบหู หายใจลำบาก คลอดก่อนกำหนด อัตราเกิดลูกมัมมี่หรือแท้งในท้องมาก แม่สุกรแท้งช่วงหลังการอุ้มท้อง อาจมีอาการทางประสาทร่วมด้วย อัตราเลี้ยงรอดต่ำ ลูกสุกรอ่อนแอ น้ำหนักหย่านมต่ำ แคระแกรน ส่วนลูกสุกรที่เข้าสู่ช่วงขุนได้ การเติบโตต่ำมาก อัตราแลกเนื้อแย่ ความเสียหายในสุกรขุนสูง
ขณะนี้ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง เกษตรกรจึงต้องรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในระดับสูงสุด หากพบโรคนี้ในฝูงสุกร การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดการอักเสบ และลดไข้ แม้มีวัคซีนคุมโรคแต่ปัจจุบันวัคซีนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศยังมีราคาแพงมาก การใช้ในฝูงสุกรขนาดใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนสูง การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเน้นการจัดการฟาร์มและสุขาภิบาลที่ดี ทั้งนี้หากมีการระบาดผ่านไประยะหนึ่ง ความรุนแรงของโรคจะลดลง เนื่องจากสร้างภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญเกษตรกรต้องไม่เคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรค
ข้อควรปฏิบัติสำหรับพี่น้องเกษตรกรคือ การดูแล เฝ้าระวัง และสังเกตอาการของฝูงสุกรอย่างใกล้ชิด ไม่ซื้อพันธุ์สุกรจากแหล่งที่ไม่รู้จัก หากพบการป่วยที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินการป้องกันอย่างทันท่วงที ไม่ให้โรคแพร่กระจายออกไปสู่ฝูงสุกรข้างเคียง ที่สำคัญต้องไม่ขายสุกรป่วยออกไป ซึ่งถือเป็นการทำร้ายเพื่อนร่วมอาชีพและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย วันนี้ผู้เลี้ยงทุกคนต้องยกการ์ดสูงป้องกัน และร่วมมือกันปกป้องวงการสุกรให้ผ่านพ้นทุกวิกฤตไปให้ได้
ส่วนผู้บริโภคก็ไม่ต้องกังวล เพราะโรคนี้เป็นเฉพาะในสุกร ไม่ใช่โรคติดต่อสู่มนุษย์ หรือสัตว์ชนิดอื่น ยังคงรับประทานเนื้อสุกรได้ ขอให้เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ หรือให้มั่นใจกว่านั้นให้เลือกซื้อจากร้านที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เน้นการปรุงสุกเท่านั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคน
ข้อมูล สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ