ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

Big Rock 1 Health Security อีกก้าวสำคัญ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของไทย

Big Rock 1 Health Security อีกก้าวสำคัญ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของไทย Thumb HealthServ.net
Big Rock 1 Health Security อีกก้าวสำคัญ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของไทย ThumbMobile HealthServ.net

Big Rock 1 : Health Security งานแถลงข่าวและการประชุมปรึกษาหารือก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 3-4 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธาณสุข การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และ กสทช.เสมือนเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของไทย

Big Rock 1 Health Security อีกก้าวสำคัญ การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของไทย HealthServ
งานแถลงข่าวและการการประชุม Big Rock 1 : Health security  ครั้งนี้ ประกอบด้วย  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 
งานประชุม Big Rock 1 : Health security เป็นงานประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางดำเนินงานการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ของประเทศไทย การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงการปฏิรูปที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาขององค์กรระดับนานาชาติ ได้แก่ WHO-CCS PHE Program และ EPI (Ending Pandemic through Innovation) 


ในการประชุมนี้ แต่ละฝ่าย มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่างๆ ที่น่าสนใจ 

 

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานมาต่อเนื่อง ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และในช่วงสำคัญที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศกำลังจะหมดวาระการดำเนินการ การจัดประชุมการปรึกษาหารือก้าวต่อไป ในประเด็นสำคัญของการปฏิรูปที่ต้องการขับเคลื่อนและต่อยอดนโยบายการดำเนินงานในระยะกลางเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้อย่างมีระบบตรงตามนโยบายและแผนการปฏิรูปประเทศฯ เพราะมีหน่วยงานหลักสำคัญของประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาโดยตลอด

สำหรับการจัดประชุมปรึกษาหารือฯ ในครั้งนี้ ยังคงกำหนดประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร 2. การพัฒนา Digital Health/Health Information Systems 3. การสร้างความเข้มแข็งของ NRA (National Regulatory Authority) โดยเฉพาะการ  จัดให้มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่”

กระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาสกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ประเทศไทยได้พลิกวิกฤตและความท้าทายเป็นโอกาสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่มีการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั่วโลกได้ชื่นชมการบริหารสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในการรับมือโควิดของไทยว่า เกิดจากความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน อสม. ภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาโควิด 19 ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แสดงถึงความสำคัญของการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพกับหมอครอบครัวได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถหยุดความรุนแรงของโรคและลดภาวะแทรกซ้อนได้ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมา
 
              นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขตชนบทมักเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข แต่ปัญหาขณะนี้เปลี่ยนไปเนื่องจากพื้นที่ชนบทมีระบบ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน ทำงานเชื่อมโยงกัน ต่างจากชุมชนเมือง เช่น ในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องพัฒนารูปแบบใหม่ของบริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งมีข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ เช่น การพัฒนากลุ่มอาสาสมัครในกรุงเทพมหานคร, การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาช่วยเพิ่มศักยภาพการบริการให้กับประชาชน การนำนวัตกรรม เช่น ระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน Smart อสม.ฯลฯ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนตามที่กรุงเทพมหานครร้องขอ
 
               “การปฏิรูปต้องเน้นเรื่อง Digital Health หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่รวดเร็วจะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างแท้จริง รวมถึงต้องสร้างความมั่นคงยา วัคซีน และอื่นๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้นำประเด็นเหล่านี้มาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการขับเคลื่อนไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เนื่องจากเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ระบบยั่งยืนและชัดเจนมากขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังมีนโยบาย 3 หมอ ที่ยกระดับ อสม.เป็นหมอคนแรกของประชาชน ขณะที่ กทม.มีระบบ อสส. ซึ่งถ้าใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มร่วมกัน อสม.และ อสส.ทั้งประเทศจะเกิดความเชื่อมโยงอย่างแท้จริง โดยทั้งหมดจะเดินหน้าภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง Health for Wealth คือ เศรษฐกิจจะดี สุขภาพต้องดีก่อน” 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนการนำนวัตกรรมทั้งทางด้านสังคมและเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 โดยนำแผนงานและกิจกรรมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 มาขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานและขับเคลื่อนหลัก และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนนั้น ส่งผลให้เกิดความสำเร็จและการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การบริการสุขภาพประชาชน
 
 
กระทรวง อว.​ ในฐานะหน่วยวิชาการ วิจัยและพัฒนา เราพร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ด้านวิชาการ การพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล Telemedicine การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล UHOSNET และงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานหน่วยบริการปฐมภูมิและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
 

กรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้กล่าวถึงบทบาทและการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ และการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะเท่าเวลานี้กับการปฏิรูปเรื่องสาธารณสุข เรามีบทเรียนที่สำคัญมากจากเรื่องโควิด-19 กรุงเทพมหานครมีบทเรียนที่หนักมาก ตรงกับ 2 เรื่องสำคัญ คือ การบูรณาการด้านข้อมูลและเรื่องทรัพยากร กรุงเทพมหานครมีเตียงมาก สุดท้ายแล้วการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ยังมีปัญหา การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเราอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีสาธารณะสุขจังหวัด ไม่มีคนที่สั่งการทั้งจังหวัดได้ แต่ละส่วนมีหน้าที่ดูแลตัวเอง กรุงเทพมหานครมีเตียงอยู่แค่ 11% ของเตียงทั้งหมดในกรุงเทพฯ เรื่องแรกก็คือเรื่องการบูรณาการด้านข้อมูลความร่วมมือ เรื่องที่สองเรื่องปฐมภูมิเป็นจุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร เราไม่มีหน่วยปะทะ หน่วยหน้า จะเห็นได้ว่าเรามีแต่หน่วยปะทะหลักก็คือศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ 69 แห่ง ถามว่ารับไหวไหม อย่างศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย มีบุคลากรอยู่ 82 คน ดูแลประชากรในคลองเตยประมาณ 1 แสนคน ไม่มีทางรับไหว พอปฐมภูมิอ่อนแอ ทุกอย่างไหลไปที่ทุติยภูมิ ตติยภูมิหมด เมื่อคนไม่มาศูนย์บริการสาธารณสุขแต่ไปที่โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลหลักก็แน่นเพราะคนไม่ไว้ใจปฐมภูมิ การแก้ไขปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาของระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร 
 
 
จริง ๆ แล้วกรุงเทพมหานครไม่สามารถทำคนเดียวได้ เพราะมันต้องมีทั้งเทคโนโลยี ทั้งข้อมูลต่าง ๆ เป็นมิติที่ดีที่ทุกคนมาร่วมมือกัน ต่างจังหวัดมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนกรุงเทพมหานครมีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด ต้องเพิ่ม อสส. มากขึ้น และกรุงเทพมหานครจะมีอีกส่วนหนึ่งที่มาเป็นบทบาทสำคัญ คือ อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน ถ้าลองไปดู อสส. จะเป็นผู้สูงอายุเยอะ ไม่ค่อยเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อสท. เป็นเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถเข้าใจการใช้ Application แล้วไปสอนคนในชุมชนให้เข้าใจการเข้าถึง Telemedicine การใช้ Application การเอาข้อมูลอัพเดทมาถึงส่วนกลางก็จะทำให้ภาพรวมของการดูแลปฐมภูมิเข้มข้น วันนี้เป็นมิติที่ดีมาก ๆ ที่ทุกคนมาร่วมมือกัน การจัดงานในวันนี้ ผมคิดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศได้อย่างชัดเจน
 
 
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนทำนโยบายของ กทม. ได้มีการศึกษาแนวคิดของนักการปฏิรูปเรื่องสาธารณสุข ซึ่งเห็นตรงกันว่านโยบาย 216 ข้อ เรื่องสาธารณะสุขสอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข ทั้งสิ้น คือเน้นเรื่องเส้นเลือดฝอยปฐมภูมิ เพราะเชื่อว่า กทม. ไม่มีหน้าที่ไปสร้างเตียงอีกจำนวนมาก สร้างปฐมภูมิให้ดีแล้วเชื่อว่าการใช้เตียงทุกเตียงทุติยภูมิ ตติยภูมิคงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นนโยบายที่ดูแลเส้นเลือดฝอยปรับปรุงสาธารณะสุข ใช้เทคโนโลยี Telemedicine มาช่วยในการเข้าถึงชุมชน ดีใจที่จะพัฒนาและมีแนวร่วมมากขึ้น กรุงเทพมหานครทำ Sandbox 2 ที่ คือ ที่ดุสิต กับ ที่ราชพิพัฒน์ 
 
 
Sandbox คือ แบบทดลอง กรุงเทพมหานครแบ่งเขตสาธารณสุขออกเป็น 6 โซน แล้วทำแต่ละโซนโดยทดสอบก่อน ถ้ามันมีความสำเร็จเอาขยายไปที่อื่นได้ Sandbox ต้องมีตั้งแต่โรงพยาบาลที่แม่ข่ายสามารถดูแลเคสที่หนัก Complicate (ซับซ้อน) ได้ อาจใช้วชิรพยาบาลเป็นตัวแม่ ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นปฐมภูมิลำดับแรก แล้วก็จะมีเครือข่ายคลีนิค ชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา มันก็จะเป็นเครือข่ายที่ครบสมบูรณ์แบบ ถ้าปะทะได้จบ อยู่ที่คลีนิคหรือศูนย์สาธารณสุข จากนั้นมีโรงพยาบาลคอย Consultant (ที่ปรึกษา) อาจจะมีหน่วย Telemedicine ลงไป ตอนนี้ Sandbox เริ่มจะสำเร็จ ของราชพิพัฒน์น่าจะเสร็จสิงหาคมนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ Completed (สมบูรณ์) ขยายผลได้ ทุกอย่างเดินไปอย่างเต็ม ข้อดีของปฐมภูมิคือไม่ต้องลงทุนมากมายเพียงแค่เปลี่ยน Mindset หาแนวร่วม ใช้ Regulation (ระเบียบ/ข้อบังคับ) ใช้การตรวจสอบ มากำกับควบคุม ถ้าโรงพยาบาล 1 โรงอาจใช้เวลา 3 ปี แล้วได้ที่เป็น Location และเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง ปฐมภูมิ คิดว่า Impact เร็ว หาแนวร่วมได้เร็ว หัวใจของคำว่าการปฏิรูป คิดว่า 2 คำ คือ Disrupt เปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิม และต้อง Scale คือขยายผลได้เร็ว ถึงมี sandbox ถ้าสำเร็จ 1 โมเดล เอาขยายไปทุกเขต ในทุกสาธารณสุขได้คิดว่าน่าจะเห็นผลตั้งแต่เดือนหน้า เพราะเริ่มทำมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในการดำเนินการสามารถร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ อีกปัญหาที่เจอคือความเป็นเนื้อเดียวกัน มีการตั้งคณะกรรมการของระบบสาธารณสุขทั้งหมดเพื่อให้เกิดการประสานงานด้านความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรต่าง ๆ บูรณาการการทำงานร่วมกัน
 
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครว่า ในฐานะที่เป็นคนทำและในฐานะของพื้นที่ที่ทำ การเริ่มต้นที่เป็นทางการสามารถทำต่อไปได้อย่างที่เราตั้งใจ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเปิด Sandbox จะทำพื้นที่การทดลองเพื่อใช้ ไอเดียนี้มีไหม ดีเพราะมันต้องลองว่าทำได้จริงไหม แต่มันจะยั่งยืนไหมคงไม่ เพราะ Sandbox เป็นการใช้การออกแบบพิเศษจากคนกลุ่มหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ในฐานะประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในวงการแพทย์สูงมาก และเชื่อว่านโยบายสาธารณะหรือการบริการสาธารณะควรมี 2 สิ่งนี้อยู่ คือ 1. ความเป็นมืออาชีพ เมื่อไหร่ที่การบริการสาธารณะใดก็ตามที่มีความเป็นมืออาชีพในตัว หมายถึงคนที่เคยอยู่บนยอดสูงสุดของบริการสาธารณะ เป็นคนที่มีความรู้มากๆ มีความเป็นมืออาชีพ ยึดถือในจริยธรรม ความเชื่อเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการยืดหยุ่นให้ระบบสามารถบริการคนได้มากขึ้นมันเกิดขึ้นได้บนการตัดสินใจที่เป็นมืออาชีพของบริการสาธารณะ 2. ความเป็นเทคนิคในทุกเรื่องที่สืบเนื่องความเป็นมืออาชีพ เป็นคำตอบที่ตอบได้ว่าเช่นนี้ทำได้ เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลความรู้ที่มีมากที่สุดของวงการ 
 
 
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วเรื่องสุขภาพขายถ้าเราตอบได้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนทางด้านสุขภาพให้กับภาคประชาชน สำหรับความสูญเสีย 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ในฐานะผู้ใช้บริการสาธารณสุขมันไม่ใช่แค่ความสูญเสียทางสภาพเศรษฐกิจ บางคนสูญเสียชีวิต และบางคนไปต่อไม่ได้ กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจอยากจะเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1. ทดลองนำร่องปฐมภูมิ เพิ่งเปิดตัวดุสิตโมเดลไปวันที่ 28 ก.ค. 65 และ 2. ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ ที่ตั้งใจจะทำให้ได้และเปิดตัวภายในปลายเดือนนี้ การขยับเขยื้อนในการทำให้การสาธารณสุขปฐมภูมิเป็นการแพทย์ใกล้บ้านใกล้ใจเกิดขึ้น การดำเนินการมีการส่งผลกระทบ หน่วยงานมีการปรับตัวมากขึ้น ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ สถานพยาบาลต้องร่วมมือกัน การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นเริ่มมีสัญญาณว่าสามารถทำได้และเปลี่ยนแปลงได้ 
 
 
สุดท้ายอีกเรื่องที่สำคัญมีอีกหนึ่งกลไกที่กรุงเทพมหานครกำลังรื้ออยู่คือการปฏิรูประบบราชการ เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ดูแลพื้นที่และเชื่อมโยงกันอาจไม่ใช่คนที่ดูแลบริหารจัดการเรื่องพื้นที่สุขภาพ ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึงสำนักงานเขตมากนักทั้งที่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับประชาชน 2. ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจระบบสุขภาพปฐมภูมิว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่กรุงเทพมหานครที่ทำให้กลไกปลายทางเสริมไปกับกลไกสุขภาพที่กรุงเทพมหานครทำ และภายในอาทิตย์นี้คาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีกลไกในการช่วยกันคิดช่วยกันทำข้อเสนอแนะว่า ที่คิดหรือทำกันอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งมั่นใจว่าจะต้องมีช่องว่าง เมื่อเจอช่องว่างก็มาหาวิธีการปิดช่องว่างให้เร็ว พอมีการรื้อระบบบางอย่างให้เกิดความเข้าใจในการทำงานรวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถทลายอุปสรรคในการทำงานและขับเคลื่อนงานให้ไปได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับภาคประชาชนปลายทางได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าแซนด์บ็อกซ์ที่จะเปิดในอนาคตจะสามารถโชว์อะไรบางอย่างให้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ และทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจนถึงที่สุด สามารถขยายผลไปทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และอาจรวมถึงปริมณฑลด้วย 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด