ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สปส.เผย ผู้ประกันตนพอใจ ผ่าตัดไวไม่รอนาน 5 กลุ่มโรคเสี่ยง

สปส.เผย ผู้ประกันตนพอใจ ผ่าตัดไวไม่รอนาน 5 กลุ่มโรคเสี่ยง Thumb HealthServ.net
สปส.เผย ผู้ประกันตนพอใจ ผ่าตัดไวไม่รอนาน 5 กลุ่มโรคเสี่ยง ThumbMobile HealthServ.net

ประกันสังคม MOU กับ สถานพยาบาล 43 แห่ง ร่วมมือให้บริการ "ผ่าตัดไวไม่รอนาน" ย่นระยะเวลาในการรอรับบริการ การผ่าตัดและหัตถการใน 5 กลุ่มโรคเสี่ยง ไม่นานเกิน 15 วันหลังพบแพทย์ เป็นบริกาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยผู้ประกันตนได้คิวผ่าตัดเร็วขึ้น หากเทียบการรอคิวปกติของรพ.ที่ตนเองมีสิทธิและสังกัดอยู่ ข้อดีอย่างมากคือช่วยลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการรุนแรง ผลสำรวจผู้รับบริการพึงพอใจ ด้านสถานพยาบาล 43 แห่งพร้อมดูแลผู้ป่วยจนสิ้นสุดการรักษา

 
     นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมมุ่งเน้นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโดยร่วมมือกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด จำนวน 43 แห่ง ดำเนิน “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม”  นำร่องการรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน ด้วยการผ่าตัดหรือการทำหัตถการใน 5 โรค ได้แก่ ผ่าตัดมะเร็งเต้านม, ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก, ผ่าตัดนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง, หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด

      โดยในกลุ่มให้บริการผ่าตัด 3 กลุ่มแรกข้างต้น (ผ่าตัดมะเร็งเต้านม, ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก, ผ่าตัดนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี)   จะได้รับการผ่าตัดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่แพทย์ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด


       ส่วนกลุ่มบริการที่มีอาการฉุกเฉิน จะได้รับการทำหัตถการภายใน 6 ชั่วโมง และ 60 นาที เมื่อมาถึงสถานพยาบาล ผู้ประกันตนสามารถ ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาล (35 แห่ง) ที่ทำบันทึกข้อตกลงให้บริการได้ที่นี่
 
 
  

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ


      ผู้ประกันตนสามารถไปตรวจที่สถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่น และให้สถานพยาบาลตามสิทธิส่งตัว หรือ ผู้ประกันตนนำผลการตรวจและเอกสารที่แพทย์ประเมินว่า มีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือทำหัตถการ ส่งไปยังสถานพยาบาลที่ทำความตกลงให้การรักษากลุ่มโรคนั้น

    ทั้งนี้ ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลใจ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงจะให้การดูแล จนสิ้นสุดการรักษา

    กรณีมีการรักษาอื่นนอกเหนือจากการผ่าตัดหรือหัตถการที่กำหนด ผู้ประกันตนสามารถกลับไปรักษาสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงพร้อมดำเนินการประสานส่งตัวไปสถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นให้อีกด้วย
 

 

ระยะทดลอง 6 เดือน 

      โครงการฯ ดังกล่าวมีระยะดำเนินการวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งผลการดำเนินการ 3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเข้ารับบริการทำหัตถการจำนวน 1,724 ราย แบ่งเป็น
  • หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,370 ราย
  • ผ่าตัดนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี 118 ราย
  • การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 23 ราย
  • การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 207 ราย
  • หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 6 ราย



     จากผลการสำรวจ  พบว่า  ผู้ประกันตนพึงพอใจ และหมดกังวลเรื่องการเข้ารับการรักษาโรคที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานอย่างรวดเร็ว และดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข

      "สำนักงานประกันสังคม มีความยินดีให้การสนับสนุนดูแลสุขภาพดีให้กับผู้ประกันตน พร้อมมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป" นายบุญสงค์ กล่าวในตอนท้าย

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด