ตราสัญลักษณ์รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด
รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด เป็นรางวัลที่อย.มอบให้แก่สถานประกอบการดีเด่นและผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น จากทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ สถานประกอบการอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนฯ และผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพื่อเชิดชูและประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2565 ได้มีการเพิ่มประเภทรางวัลด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม 2) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ 3) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และ 4) ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์และพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งหมด 32 รางวัล ร่วมกับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น อีก 49 รางวัล (รวมเป็นทั้งหมด 73 รางวัล) เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ปี 2566 เป็นปีแรกที่ อย. เปิดกว้างให้สามารถนำตราสัญลักษณ์รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ไปใช้บนฉลากได้
หลักเกณฑ์การนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์
อย.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำตราสัญลักษณ์รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ไปใช้สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไว้ดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้นำตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ไปแสดงบนฉลาก และประชาสัมพันธ์ในสื่อรูปแบบต่าง ๆ โดยต้องระบุประเภทรางวัลที่ได้ และปีที่ได้รับรางวัลกำกับไว้
2. การใช้ชื่อรางวัลให้ใช้คำเรียก "อย. Quality Award" หรือทับศัพท์ "อย. ควอลิตี้ อวอร์ด" ในการประชาสัมพันธ์
3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสิทธิ์การใช้ตราสัญลักษณ์รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด บนฉลาก หากมีการนำไปใช้และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของการได้รับรางวัล เช่น เปลี่ยนแปลงปี พ.ศ. ที่ได้รับรางวัล โดยอาจไม่อนุญาตให้เข้าประกวด 2 ปี และอาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย หากการกระทำผิดเข้าข่ายตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น
4. หลักเกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้สำหรับผู้ได้รับรางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก
สถานประกอบการที่ได้รับการประเมิน เพื่อรับรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด
1. มีการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจ าหน่ายในประเทศที่ได้คุณภาพ หากเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อส่งออกต้องมีการจ าหน่ายในประเทศด้วย โดยมีระยะเวลาประกอบการติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี
2. มีการรักษาคุณภาพมาตรฐานการผลิตด้วยดีมาโดยตลอด มีการนำเอาระบบคุณภาพมาพัฒนาหรือควบคุมการผลิตให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาดมีคุณภาพ
3. จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ไม่เคยถูกลงโทษ ในเรื่องการผลิต ขาย และโฆษณาย้อนหลังเป็นเวลา 2 ปี (นับถึงวันสมัคร)
4. ผู้ประกอบการรายใดที่เคยได้รับรางวัลในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน 3 ครั้งติดต่อกัน ขอสงวนสิทธิ์เว้นช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จึงจะสามารถมีสิทธิ์สมัครได้ ยกเว้นกรณีที่เป็นอุตสาหกรรมต่างประเภทกัน
5. มีระบบในการตอบสนองต่อผู้บริโภค (Customer Relations)
6. ประกอบการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม มีกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การให้ความรู้กับผู้บริโภค การดูแลสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมกิจกรรมที่พัฒนาด้านสังคม คุณธรรม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
7. ผู้สมัครที่มีการดำเนินการผลิตมากกว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์ สามารถยื่นสมัครได้มากกว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์หมายเหตุ กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้ารับการประเมิน เพื่อรับรางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน และสมัครโดยผ่านการคัดเลือกจากส านักงานสาธารณสุขจังหวัด
FAQ คำถาม-คำตอบ
การใช้ตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด [
FAQ]
คำถามข้อ 1. สถานประกอบการรายเดิมที่เคยได้รับรางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด สามารถนำตราสัญลักษณ์แสดงบนฉลากได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ อย. อนุญาตเฉพาะสถานประกอบการรายใหม่ที่ได้รับรางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ตั้งแต่ปี 2565 (หรือ ค.ศ. 2022) เป็นต้นไป
คำถามข้อ 2. ไฟล์ตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด สามารถดาวน์โหลดได้ที่ใดบ้าง
คำตอบ หน้าแรกของเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th เว็บไซต์กองผลิตภัณฑ์ และเว็บไซต์ กองที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เว็บไซต์กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ และกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค โดยจะมีแบนเนอร์แสดงบนหน้าเว็บไซต์
คำถามข้อ 3. การแสดงตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด สามารถใช้สีอะไรได้บ้าง และต้องทำขนาดเท่าใด
คำตอบ
- สามารถเลือกได้สองสีตามความเหมาะสมกับสีพื้นฉลาก คือ สีน้ำเงิน และสีทอง
- ให้ใช้ตราสัญลักษณ์ตามต้นแบบมาตรฐานที่ อย. กำหนด โดยสามารถย่อ/ขยายขนาดได้ ตามความเหมาะสม แต่ต้องคงสัดส่วนตามเดิม และต้องสามารถเห็นรายละเอียดของสัญลักษณ์และตัวอักษรบน ตราสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน
- ปีที่แสดงในตราสัญลักษณ์ให้แสดงเป็นปี ค.ศ.
คำถามข้อ 4. การแสดงตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด มีเงื่อนไขอะไรหรือไม่
คำตอบ
- การแสดงตราสัญลักษณ์เป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการ จะแสดงหรือไม่แสดงก็ได้
- การแสดงตราสัญลักษณ์ต้องตรงประเภทรางวัลตามที่สถานประกอบการได้รับ
- รางวัลด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น ให้แสดงสัญลักษณ์บนฉลากได้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัลเท่านั้น
- หากมีการนำตราสัญลักษณ์ไปใช้และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของการได้รับรางวัล เช่น เปลี่ยนแปลงปีที่ได้รับรางวัล นำไปแสดงบนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับรางวัล จะถูกตัดสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้เข้าประกวด 2 ปีและอาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย หากการกระทำผิดเข้าข่ายตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น
คำถามข้อ 5. การนำตราสัญลักษณ์ รางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ดไปใช้ในฉลากหรือสื่อประชาสัมพันธ์ มีวันหมดอายุหรือไม่
คำตอบ ไม่มีวันหมดอายุ แต่ให้แสดงตามข้อเท็จจริง เช่น ระบุปีที่ได้รับรางวัลนั้น ๆ (ยกเว้นขาดคุณสมบัติการได้รับรางวัล และถูกเพิกถอนรางวัล)
คำถามข้อ 6. การกระทำความผิด ในกรณีใดต้องถูกเพิกถอนการให้รางวัล
คำตอบ ในการเพิกถอนการให้รางวัล ต้องใช้มาตรการทางปกครอง โดยต้องมีการออกระเบียบหรือประกาศสำนักงานฯ รองรับ แต่ขณะนี้ยังไม่มี ดังนั้น หากมีการกระทำผิดจึงใช้วิธีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือการตัดสิทธิ์การประกวดเป็นเวลา ๒ ปี ไปพลางก่อน
คำถามข้อ 7. การแก้ไขฉลากหรือจัดทำตราสัญลักษณ์ในรูปแบบสติ๊กเกอร์ติดบนฉลาก สามารถดำเนินการได้หรือไม่
คำตอบ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
- กรณีอาหารที่ไม่ต้องขออนุมัติฉลากก่อน เช่น อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซอสปรุงรส เป็นต้น ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขฉลากใหม่ได้ทันที
- กรณีอาหารที่ต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับ หรือต้องขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เช่น วัตถุเจือปนอาหาร อาหารวัตถุประสงค์พิเศษ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนของกัญชา กัญชง เป็นต้น ต้องมายื่นขออนุญาต
ผลิตภัณฑ์ยา , ผลิตภัณฑ์สมุนไพร , ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
- สามารถทำได้ แต่ต้องมายื่นขออนุญาต
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายฯ
- ทำได้โดยไม่ต้องยื่นขอแก้ไขฉลาก
คำถามข้อ 8. การนำตราสัญลักษณ์ไปโฆษณาผ่านสื่อ เช่น โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ให้แสดงเป็นแบบใด
คำตอบ แสดงตามต้นแบบมาตรฐานที่ อย. กำหนด
คำถามข้อ 9. การโฆษณาต้องขออนุญาตหรือไม่
คำตอบ
- ต้องขออนุญาต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
- ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตรายฯ