ความร่วมมือในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการร่วมกันพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมเภสัชกรไทยให้มีทักษะสูงและสอดคล้องไปกับความต้องการและมาตรฐานของอุตสาหกรรมฯ โดยความร่วมมือนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง ในด้านการสื่อสารสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science Liaison) และการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจเวชภัณฑ์ (Market Access) ซึ่งถือเป็นสองสาขาที่มีความสำคัญและมีการเติบโตในอุตสาหกรรมฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2572 และจะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวหน้า ผ่านการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบสุขภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก. นรินทร์ จันทร์ศรี คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามคณะเภสัชศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “สถาบันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านเวชภัณฑ์ระดับโลก ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสุขภาพของประชาชนไทยโดยการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรม สถาบันเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ได้พัฒนาการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยการฝึกปฏิบัติการในบริษัทฯ รวมถึงถือเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือของสถาบันและบริษัทฯ ในการจัดการการเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรมของ นิสิต นักศึกษา ทางด้านการสื่อสารสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science Liaison) และการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจเวชภัณฑ์ (Market Access) และมุ่งหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาในสาขาเภสัชศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยในประเทศไทยให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและวงการแพทย์ สถาบันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความร่วมมือครั้งนี้ และหวังว่าจะมีความสำเร็จและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ดร. แมรี่ เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “เอ็มเอสดี ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่องผ่านการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมและวัคซีน โดยความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับพันธกิจของเราในการพัฒนาบุคลากรเภสัชกรที่มีทักษะสูงในอนาคตของประเทศไทย และยังเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความรู้และทักษะของนักศึกษา ผ่านหลักสูตรร่วมที่มุ่งเน้นด้านสาขาการสื่อสารสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science Liaison) และการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจเวชภัณฑ์ (Market Access) เราจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเภสัชกรที่พร้อมทำงานในอุตสาหกรรม ความร่วมมือนี้จะมอบประสบการณ์จริงและการพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษา ช่วยให้พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในอาชีพเภสัชกรรมในอนาคตได้อย่างมั่นใจ”
จากความร่วมมือดังกล่าว บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกงานนี้ขึ้นมา โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์สองสาขาสำคัญในอุตสาหกรรมเภสัชกรรมโดยเฉพาะ ดังนี้
- สาขาการสื่อสารสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Science Liaison) โดยจะช่วยให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้เรียนรู้ทักษะสำคัญในการวิจัย วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษา รวมถึงการทบทวนงานวิจัย (Literature Review) จากฐานข้อมูลของสถาบันและแหล่งข้อมูลของบริษัท ซึ่งทักษะและความชำนาญเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารข้อมูลด้านเภสัชกรรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมผลลัพธ์ด้านสุขภาพ สอดคล้องไปกับการปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิชาการอย่างเคร่งครัด
- สาขาการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจเวชภัณฑ์ (Market Access) ที่มุ่งเตรียมนักศึกษาให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเภสัชกรรม เพิ่มการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาสำหรับผู้ป่วย และประเมินแนวทางการเข้าถึงตามกฎระเบียบท้องถิ่นและแนวทางการตลาดเชิงจริยธรรมภายในระบบสุขภาพ
บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด และมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้ง 4 แห่งจะจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาในการฝึกงานในสองสาขานี้ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การทำงานจริงที่มีคุณค่า โดยเน้นการสื่อสารทางการแพทย์เพื่อส่งเสริมผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้น เพิ่มการเข้าถึงยานวัตกรรมสำหรับผู้ป่วย และยึดมั่นในหลักปฏิบัติทางจริยธรรมในอุตสาหกรรมเภสัชกรรม โดยการฝึกงานที่บริษัท เอ็มเอสดี ประเทศไทย จะใช้เวลามากกว่า 30 วัน (30 วันเท่ากับ 1 รอบการฝึกงาน) ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะมีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรไทย และส่งเสริมความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพในประเทศไทย