การประกาศของผอ. WHO เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมหารือในคณะผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความเห็นต่างกันในแนวทาง ทั้งนี้โดย 6 จาก 9 คนรวมถึงผอ.WHO เอง สนับสนุนให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว
"ถึงแม้จะเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินต่อนานาชาติก็ตาม แต่การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ พบมากอยู่ในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน "
ระดับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงจากผู้ติดเชื่อไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิด จัดว่าอยู่ในระดับปานกลางทั่วทุกพื้นที่ทั่วโลก ยกเว้นในยุโรปที่มีเป็นพื้นที่ที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าภูมิภาคอื่น
ในปี 2565 มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงแล้วกว่า 16,000 ราย ใน 75 ประเทศทั่วโลก เสียชีวิต 5 ราย ในแอฟริกา ผู้ติดเชื้อโรคนี้จะมีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัด ร่วมกับอาการโรคผิวหนัง การแพร่กระจายของเชื้อนอกแอฟริกาส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มชายรักชาย
ยุโรปเป็นศูนยกลางการระบาดของโรคนี้ โดยกว่า 80% ของผู้ติดเชื้อที่พบในปี 2022 นี้ อยู่ในยุโรป ผู้ติดเชื้อรายแรกพบในอังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นชายที่เดินทางกลับจากไนจีเรีย
ส่วนในสหรัฐมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 2,500 ราย ใน 44 รัฐ
การประกาศภาวะฉุกเฉินต่อโรคระบาดครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากการประกาศใหญ่ล่าสุดคือ โรคโควิด-19 แต่โรคฝีดาษลิงจะไม่สร้างผลกระทบรุนแรงทั้งด้านการค้า การเดินทางระหว่างประเทศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากโควิด
สถานการณ์ในประเทศไทย
21 กรกฎาคม 2565 อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวยืนยันการพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร 1 ราย ในจังหวัดภูเก็ต เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ผู้ป่วย มีอการ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ตรวจ PCR ยันยันพบเชื้อ Monkeypox virus ได้มีการสอบสวนโรค และติดตามค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและตรวจสอบการติดเชื้อของผู้สัมผัสใกล้ชิด
23 กรกฎาคม 2565 อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าชายชาวไนจีเรียที่เป็นผู้ป่วยฝีดาษวานรที่พบรายแรก ได้รับแจ้งจากทางตำรวจและสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตว่า พบสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ชายแดนประเทศกัมพูชา ค่อนข้างชัดเจนว่าหลบหนีออกทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเราประสานไปยังทางการกัมพูชาแล้วในการติดตามผู้ป่วยรายดังกล่าว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วที่มีความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากสถานทูตไทยที่พนมเปญ แจ้งว่า ทางการกัมพูชาเข้าจับกุมชายชาวไนจีเรีย วัย 27 ปี ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อฝีดาษวานรรายแรกในไทย ที่หลบหนีจากประเทศไทยได้แล้ว จับได้ที่ย่านตลาดเดิ้มโก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีชาวไนจีเรีย อาศัยอยู่จำนวนมาก และนำตัวส่งสถาบันสาธารณสุขกัมพูชาเพื่อกักโรคต่อไป [
ประชาชาติ]
ด้านการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยฝีดาษวานรชาวไนจีเรียพบว่า มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง 19 ราย ไม่มีอาการป่วย ส่งสิ่งส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั้งหมดแล้ว ผลออกมาไม่พบเชื้อ 2 รายอยู่ระหว่างการตรวจและรอผลอีก 17 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 14 ราย ส่วนการค้นหาเชิงรุกมีจำนวน 142 ราย ไม่พบอาการผื่นสงสัย แต่มีอาการอื่นๆ คือ ไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 6 ราย ส่งตรวจแล้ว 5 ราย ผลออกมาไม่พบเชื้อ ไปต่างประเทศ 1 ราย
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงข้อกังวลว่า "ผู้ป่วยรายนี้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างหรือไม่นั้น" ขอย้ำว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายอย่างโควิด การติดต่อต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ และอาการโรคส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรุนแรง ซึ่งมาตรการป้องกันตนเองจากโควิด ยังสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการสัมผัสผู้ที่มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามผิวหนัง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมเก็บรักษาไว้ พบยังมีคุณภาพได้มาตรฐาน
22 กรกฎาคม 2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ แถลงข่าว “ผลการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บรักษาไว้นานกว่า 40 ปี” ว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศความสำเร็จในการกวาดล้างโรคฝีดาษไปจากโลกแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ทำให้การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในคนจึงได้หยุดไป แต่เนื่องจากพบการระบาดอีกครั้งของโรคฝีดาษวานรในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิดและเตรียมการรองรับ ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมเก็บรักษาไว้นานกว่า 40 ปี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาตรวจสอบคุณภาพวัคซีน โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นเก็บในรูปผงแห้งที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และ 2523 จำนวน 13 รุ่นการผลิต รวม 10,000 หลอด บรรจุหลอดละ 50 โดส รวมทั้งหมด 500,000 โดส ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตจากน้ำเหลืองของสัตว์ รูปแบบการนำมาใช้โดยการหยดลงผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวให้ถลอกเพื่อให้วัคซีนซึมผ่าน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน ตามมาตรฐานการตรวจวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย การตรวจสอบทางกายภาพ เพื่อตรวจสอบลักษณะผงแห้งและการละลายด้วยตาเปล่า ตรวจวิเคราะห์ทางเคมี-ฟิสิกส์ ตรวจสอบความเป็นกรด-ด่าง ตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารก่อไข้และความปราศจากเชื้อ ตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ โดยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสฝีดาษ และตรวจสอบความแรง เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของวัคซีนว่ามีปริมาณเชื้อไวรัสเพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรคได้หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจสอบ พบว่า วัคซีนฝีดาษ จำนวน 13 รุ่นการผลิต ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่ดี มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วงค่า pH 7.38- 7.52 (มาตรฐานทั่วไป pH 6.0-8.0) ปริมาณสารก่อไข้ อยู่ระหว่าง 4.20- 31.1 EU/ml (มาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 200 EU/ml) ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ และผลตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ พบว่า เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสฝีดาษ Orthopoxvirus และวัคซีนมีค่าความแรง อยู่ระหว่าง 6.42- 6.86 logTCID50/ml (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนด ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 5.4 log TCID50/ml)
“โดยสรุปแล้ววัคซีนฝีดาษจากองค์การเภสัชกรรม จำนวน 13 รุ่น ยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานวัคซีนไวรัสทั่วไป และยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศและไม่สามารถจัดหาวัคซีนฝีดาษมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาด ไปทั่วโลก วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่นี้ สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ อย่างไรก็ตามการที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับรวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว