ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่งในขณะนี้ สร้างความวิตกให้กับสังคมอย่างมาก คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ทำการประชุมในวันนี้ (21 พ.ค.64) โดยมีแนวทางการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว
สถานการณ์ในแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เข้าดำเนินการSwab ครบทั้งหมดแล้ว จำนวน 1,667 คน ผลพบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,107 คน คิดเป็นร้อยละ 66.41 ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้สำนักการแพทย์ดำเนินการมาตรการที่กำหนดคือการควบคุมพื้นที่ในลักษณะเดียวกับ Community Isolation ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน รวมทั้งมีการดูแลสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในแคมป์ มีการส่งมอบอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง และการจัดให้มีทีมแพทย์ดูแลรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ติดเชื้ออยู่ภายใน แต่หากมีผู้มีอาการป่วยจะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
แนวทางการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้าง
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
1. แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง
หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ และ
2. ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่ไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง
ให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในพื้นที่แคมป์ซึ่งเจ้าของต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย และผู้ที่ไม่ติดเชื้อที่ต้องเดินทางไปทำงานจะต้องแจ้งเส้นทางการเดินทางต่อเขตต้นทางและปลายทาง โดยจะต้องไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง และปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
กทม. ยังได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในแคมป์คนงานก่อสร้างให้แก่ผู้ประกอบการแคมป์คนงาน จำนวน 409 แห่ง ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครได้รับทราบและเข้าใจเป็นแนวทางเดียวกัน ประกอบด้วย
1) มาตรการคัดกรอง
2) มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป
3) มาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
แนวทางสำหรับผู้ประกอบการ
กทม.จัดประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุม แก่ผู้ประกอบการประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการคัดกรอง มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป และมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
มาตรการคัดกรอง
- ด้วยการสังเกตผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้หยุดปฏิบัติงานและพาไปพบแพทย์
- จัดหาหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
- จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนงานอย่างเพียงพอ ทั้งในพื้นที่ก่อสร้างและที่พักคนงาน
- จัดที่นั่งรับประทานอาหารในสถานที่ก่อสร้าง ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
- การรับ-ส่งพนักงาน ควรจำกัดจำนวนคนในรถไม่ให้เกิดความแออัด ไม่ให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน หลีกเลี่ยงการพูดคุย ไม่ควรแวะระหว่างทาง และไม่ควรรับประทานอาหารระหว่างเดินทาง
- จัดหาสื่อให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่พนักงาน
- เตรียมวางแผนการปฏิบัติ และทำความเข้าใจกับคนงาน กรณีมีผู้ป่วยยืนยัน เช่น การห้ามโยกย้าย การใช้พื้นที่ในการแยกผู้ป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัสเสี่ยงออกจากครอบครัว
- การสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันในระหว่างกักตัว
- การจำกัดการเดินทางเข้าออกที่พัก
- การปิดพื้นที่พัก
- การอพยพโยกย้ายคนงานที่ไม่ป่วยกรณีมีการแพร่กระจายมาก
- การจัดการผู้ป่วยที่หายแล้วกลับมาทำงาน
- การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทันทีเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ
มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน
สำหรับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร
- ให้ผู้ประกอบการแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตต้นทางและปลายทางทราบ ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อย ภายใน 1 วัน
- ระบุเหตุผลความจำเป็นและข้อมูลในการเดินทางเพื่อการทำงานข้ามเขต และให้แจ้งเขตปลายทางทราบ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตอย่างเคร่งครัด โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
- เอกสารประกอบการขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงาน ประกอบด้วย
• แบบคำขอการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน
• หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล
• รายชื่อแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้าย
• ใบอนุญาตทำงาน
• สัญญาจ้างโครงการ
• เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงานเขตร้องขอ
มาตรการอื่นๆ
- ส่วนคนงานและบุคคลในครอบครัว ให้ทำความสะอาดห้องพัก และพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน
- เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศเป็นประจำทุกวัน
- ไม่ควรอาบน้ำพร้อมกันในที่อาบน้ำรวม
- ควรใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
- หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม หรือบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนหรือมีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ
- ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อน
- ไม่ไปในสถานที่แออัดหรือรวมกันของคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ร้านค้า
- งดกิจกรรมสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม
- งดการดื่ม ในช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุด
- หมั่นสังเกตอาการตนเองและบุคคลในครอบครัว หากมีอาการไข้ ไอ จาม หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและแจ้งผู้ประกอบการทราบ
- กรณีพบผู้ป่วยให้ผู้ประกอบการแจ้ง EOC สำนักอนามัย โทร. 09 4386 0051 หรือ 08 2001 6373 หรือ 0 2245 4964
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ คำแนะนำในการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ก่อสร้าง ทั้งภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและแรงงานในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งสำนักงานเขตจะร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้างต่อไป
จัดทีมตรวจเชิงรุกกระจาย 6 กลุ่มเขต ต่อเนื่องถึง 30 ก.ย.64
คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้สำนักอนามัย จัดทีมลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (Active Case Finding หรือ ACF) ด้วยการ SWAB อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 64 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยกำหนดลงพื้นที่ ดังนี้
กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ : ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก : สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษามีนบุรี เขตมีนบุรี
กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง : ลานกีฬาพัฒน์ 2 เขตราชเทวี
กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ : วัดด่าน เขตยานนาวา กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ : สวนหลวงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัดและสวนป่าเฉลิมพระเกียรติสะพานตากสิน เขตคลองสาน
กลุ่มเขตกรุงธนใต้ : ตลาดบางแคภิรมย์
ทั้งนี้จะหมุนเวียนไปยังพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด และพื้นที่ที่ชุมชนอื่นๆ เพื่อลดการเดินทางของประชาชนให้ได้มากที่สุด