กระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ระยะที่ 2 ใช้พื้นที่อาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ 1 รับผู้ป่วยได้ 1,076 เตียง ทำให้มีเตียงรักษาผู้ป่วยโควิดรวมกว่า 2,000 เตียง พร้อมติดตั้งเต๊นท์ความดันลบสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 101 เตียง ผลการดำเนินงานระยะแรก ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว 183 ราย มีอัตราการครองเตียงกว่าร้อยละ 70
วันนี้ (28 พฤษภาคม 2564) ที่อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ระยะที่ 2 โดยนายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ระยะแรกใช้พื้นที่อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ 3 จำนวน 1,083 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มที่มีอาการน้อยถึงปานกลางในเขตกทม. และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นจำนวนมาก สามารถคลี่คลายการขาดแคลนเตียงในเขตกทม. และช่วยให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ดูแลรักษาผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างเต็มที่
ตลอด 14 วันที่ผ่านมามีผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษาเฉลี่ยวันละ 70 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ป่วยสะสม 1,002 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 183 ราย ส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล 39 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 780 ราย อัตราการครองเตียงมากกว่าร้อยละ 70 จึงได้ขยายพื้นที่เปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ระยะที่ 2 อีกจำนวน 1,076 เตียง ในอาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ 1 ทำให้มีเตียงรับผู้ป่วยรวม 2,159 เตียง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีเต๊นท์ความดันลบสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอีก 101 เตียง หากผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบจะส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่
“ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่เสียสละ ทำเพื่อส่วนรวม ช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการดูแลที่เหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการเสียชีวิตและเป็นส่วนที่ช่วยให้ประเทศสามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายอนุทินกล่าว
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลบุษราคัมรับผู้ป่วยจากการประสานส่งต่อจากสายด่วน 1668 มากที่สุด รองลงมาคือ จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก รพ.ลำลูกกา รพ.สามโคก จ.ปทุมธานี, เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET), นิมิตบุตร,สายด่วน 1330, สายด่วน 1669 และ Hospitel ตามลำดับ
ในการบริหารจัดการ ได้ระดมทรัพยากร อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์จากเขตสุขภาพที่ 4 และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดที่มีการระบาดน้อยจากทุกเขตสุขภาพ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงานทุก 2 สัปดาห์ มีระบบการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตั้งแต่จุดเวชระเบียน รับผู้ป่วย ใช้ระบบวงจรปิดติดตามอาการผู้ป่วย ให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ปรับการให้ยารวดเร็วขึ้น มีโซนพักผ่อนหย่อนใจ แยกโซนการรักษาตามกลุ่มอายุและระดับอาการ มีจิตอาสาในกลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน โดยผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงคอยช่วยผู้ที่อ่อนแอกว่า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ประชาชน บริจาคสิ่งของสนับสนุน อาทิ เตียงกระดาษ ชุดเครื่องนอน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องอุปโภคบริโภค
กระทรวงสาธารณสุข
28 พฤษภาคม 2564