เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 ก.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวถึงกรณีประชาชนร้องเรียนว่า ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจเชื้อโควิดได้ ว่า จริงๆ รัฐไม่ได้ห้ามการตรวจเชื้อ แต่ทบทวนว่าแต่ละแล็ปในการตรวจหาเชื้อโควิดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาตรฐานดี โดยหากพบเชื้อก็จะมีการประสานหาสถานพยาบาลรองรับ แต่บางกรณีมีการตรวจแบบแรพิดเทสต์ (Rapid Test) ที่บางทีผู้ป่วยถือผลแล็ปไป แต่รพ.จัดเตียงไม่ได้ เพราะต้องตรวจซ้ำ เนื่องจากการตรวจแรพิดเทสต์ จะมีข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นการตรวจแบบรวดเร็ว โดยหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีเชื้อปริมาณมาก การตรวจวิธีนี้ก็อาจตรวจได้จริงว่า เป็นผลบวก แต่ความไวในการตรวจค่อนข้างจำ บางทีผลออกมาลบ แต่คนนั้นอาจเป็นผู้ติดเชื้อ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงระบุว่า สามารถใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดเร่งด่วน หรือกรณีมีอาการมีเชื้อเยอะๆ ตรวจเจอแน่ แต่ก็เป็นห่วงว่า ที่ไม่อนุญาตให้บางแล็ปตรวจ อาจมีเรื่องมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ทุกโรงพยาบาลมีการรับตรวจเชื้อหมด แต่เน้น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่เตรียมผ่าตัด มาคลอดลูก ฯลฯ กลุ่มที่ 2 มีประวัติเสี่ยงสูง เดินทางพื้นที่เสี่ยง เช่น สามีติดเชื้อเราก็แจ้งกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเราเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งปัจจุบัน 2 กลุ่มนี้ ทางรพ.ตรวจประมาณ 300-400 รายต่อวัน จึงเป็นตัวเลขสูง
ดังนั้น หากคนที่ Walk In เดินเข้าไปขอตรวจโดยไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงจึงยังไม่ได้รับการตรวจ ทั้งนี้ กทม.ลงตรวจคัดกรองเชื้อจะพบว่า ในกลุ่มคน Walk In เข้ามาและเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อมีการตรวจไป 100 คนพบ 90 คนเป็นผลบวก ถือว่าแม่นยำ 90% ส่วนการตรวจเชื้อจากตลาด โรงงาน เมื่อไปตรวจตาม 6 เขต พบผู้ติดเชื้อ 10% ซึ่งกทม.จะมีการปรับการตรวจ และจะค้นหาแบบเชิงรุกในไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อว่า อยู่กับครอบครัวมีใคร ทำงานกับใคร เป็นต้น
"ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าข่ายสัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่มีความต้องการอยากตรวจเชื้อ เพราะไม่มั่นใจ ล่าสุดในที่ประชุมมีการหารือว่า ในระยะอันใกล้นี้ อาจเปิดศูนย์ Walk In แล็ปที่ศูนย์นิมิบุตร และเมื่อพบเชื้อก็จะมีระบบแยกกลุ่มอาการ สีเขียว เหลือง แดง โดยสีเหลือง แดงจะได้เตียง แต่สีเขียวจะจัดสรรไปรอในศูนย์พักคอยของ กทม.”
Hfocus