โรงพยาบาลราชวิถี เพิ่มห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) 20 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อฉุกเฉินอาการหนักกลุ่มสีแดง และสีเหลือง ในเขต กทม.และปริมณฑล ช่วยให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว คาดแล้วเสร็จ 19 กรกฎาคมนี้
จากสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อมากเกือบ 50% ของการติดเชื้อทั้งประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางจนถึงอาการหนักเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักบางส่วนต้องรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน โดยในเดือนมิถุนายนมีผู้ป่วยโควิดรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถีเฉลี่ย 10 รายต่อวัน ขณะนี้เพิ่มเป็น 20 รายต่อวัน จึงได้เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินอีก 20 เตียง เพื่อนำผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) รวมทั้งผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ที่มีภาวะร่วมเข้าสู่ระบบการรักษาทันท่วงที เป็นห้องความดันลบ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานและผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในบริเวณห้องฉุกเฉิน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี จำกัด มหาชน ออกแบบและก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 7 วัน และมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ คาดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นี้
“ขณะนี้เราได้ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ มาช่วยดูแลดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก อยู่ในภาวะฉุกเฉินทั้งบุคลากร สถานที่ โดยเฉพาะเตียงที่มีอยู่อย่างจำกัด ขยายให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ ไม่ให้กระทบกับการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ” ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564 โอกาสเข้าตรวจติดตามการติดตั้ง ณ โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถี มีห้องสำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ 96 เตียง ในจำนวนนี้เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 35 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงได้ปรับพื้นที่ภายในห้องประชุมเป็นห้องพักผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ (Cohort ER) 10 เตียง และปรับพื้นที่ลานจอดรถให้เป็นห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) 10 เตียง โดยเป็นห้องมาตรฐานสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น อาทิ ระบบไหลเวียนอากาศ, ระบบมอนิเตอร์ ติดตามอาการผ่านกล้อง cctv, เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ เป็นต้น และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานในหอผู้ป่วยไอซียู ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน
16 กรกฎาคม 2564