ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ขับเคลื่อน Sandbox Safety Zone in School โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 ชัยนาท แห่งแรกในเขตสุขภาพที่ 3
ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จังหวัดชัยนาท กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแนวทาง Sandbox Safety Zone in School หวังนักเรียนสามารถไปเรียน ที่โรงเรียนได้ในภาคการศึกษาหน้า ภายใต้การปฏิบัติเข้มตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
29 กันยายน 2564 นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำแนวปฏิบัติ Sandbox Safety Zone in School ด้วยการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และจะมีการคัดกรองโดยใช้วิธี Rapid Antigen Test ซึ่งเน้นการทำกิจกรรม ในรูปแบบ Bubble and Seal และต้องปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus โดยมีระบบติดตามเข้มงวด ของครู และบุคลากรพร้อมเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา ด้านครู บุคลากรทางการศึกษา มีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai Save Thai สม่ำเสมอ เข้าถึงการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85 ส่วนนักเรียน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะพิจารณาฉีดให้ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
"สำหรับโรงเรียนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จะยังคงต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์เช่นเดิม และเมื่อเด็กสามารถกลับไปเรียนได้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยให้เว้นห่าง ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากการแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัดและไม่ถูกวิธี ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่ลูก" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า สถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 3 ยังคงพบผู้ติดเชื้อ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม-27 กันยายน 2564 มีเด็กวัยเรียนวัยรุ่นอายุ 6-18 ปี ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 1,613 ราย เฉพาะจังหวัดชัยนาท จำนวน 117 ราย แม้ยังไม่มีการ เปิดเรียน ส่วนหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เขตสุขภาพที่ 3 จึงได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมอนามัย นำร่องเปิดการเรียนการสอบแบบ On Site ตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ มีการแบ่งโซนคัดกรอง โซนผู้สัมผัสเสี่ยง และโซนปลอดภัยสีเขียว ร่วมกับมาตรการต่างๆ ด้วยความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ตรวจ ATK ให้กับครู บุคลกร และนักเรียน จำนวน 750 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อทั้งโรงเรียน และมีการสุ่มตรวจซ้ำทุก 14 วัน ในกรณี ครู บุคลากร ที่เดินทางไป-กลับ และนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงในรายที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ
"ทั้งนี้ เน้นย้ำให้มีการประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ เน้น 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสถานศึกษา คือ 1) สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และประเมินผลผ่าน MOE COVID 2) การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มย่อยและไม่ข้ามกลุ่ม 3) จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ 4) จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการระบายอากาศ 5) จัดเตรียม School Isolation และแผนเชิญเหตุรองรับ ผู้ติดเชื้อโดยมีการซักซ้อม 6) ควบคุมดูแล การเดินไปกลับให้มีความปลอดภัย (Seal Route) และ 7) จัดทำ School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ซึ่งจะมีข้อมูลประเมินความเสี่ยง ผลตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติติดเชื้อช่วง 1-3 เดือน" ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 กล่าว
ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ / 29 กันยายน 2564